หม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล ทรงโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กโดยกล่าว รสพระธรรม กับนักการเมือง โดยระบุว่ารสพระธรรม…ชนะรสทั้งปวง พูดถึง “รส” ของที่มีรส ย่อมมีรสประจำ เช่น เกลือมีรสเค็ม น้ำตาลมีรสหวาน พริกมีรสเผ็ด ถ้าต้องการรสเค็มหาได้จากเกลือ รสหวานหาได้จากน้ำตาล รสเผ็ดหาได้จากพริก ถ้าหาผิดที่ จะไม่ได้รสตามที่ต้องการ เช่น หารสเค็มจากน้ำตาลก็คงไม่พบ เมื่อไม่พบจะโทษว่าน้ำตาลทำไมจึงไม่เค็ม เช่นนี้ย่อมไม่ใช่ความผิดของน้ำตาล เป็นความผิดของคนต้องการรสที่มีความเข้าใจผิดจึงไม่ได้รสที่ต้องการ (เฉกเช่นนักการเมืองบางคน ทั้งเขา และเธอ)
พระธรรมก็มีรสประจำเหมือนกัน แม้พระธรรมจะมีถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แต่รสของพระธรรมก็มีอยู่เพียงอย่างเดียว เหมือนน้ำทะเลแม้จะมีมากมายย้ายแยกกันอย่างไร เมื่อพูดถึงรสแล้วก็ต้องมีรสเค็มอย่างเดียวกันทั้งนั้น จะตักน้ำทะเลที่ไหน น้ำนั้นก็มีรสเค็มอย่างเดียวกัน
รสพระธรรม คือ ความหลุดพ้นจากกองกิเลสกองทุกข์ ผู้มีทุกข์ก็ต้องการพ้นจากทุกข์ ผู้ต้องการพ้นจากทุกข์ก็ต้องการพ้นจากกิเลสด้วย เพราะกิเลสมีตัณหาเป็นต้นเป็นมูลเหตุให้เกิดทุกข์ ผู้ที่ต้องการความสนุกสนาน แต่มาหาความสนุกสนานจากพระธรรมจึงไม่พบ เพราะรสพระธรรมมิใช่ความสนุกสนาน แต่ถ้าต้องการความหลุดพ้นจากกิเลสหรือกองทุกข์ มาหาจากพระธรรมก็จะต้องพบตามสมควรแก่การปฏิบัติ เพราะความหลุดพ้นเป็นรสพระธรรมโดยตรง
รสอาหาร ผู้รับประทานต้องมีปากบริสุทธิ์ ลิ้นบริสุทธิ์ จึงจะรู้รสอันแท้จริงของอาหาร ถ้าปากมีโรค ลิ้นมีโรค ก็จะไม่รู้รสอันแท้จริงของอาหารฉันใด อาทิ นักการเมืองบางพวก ทีคิดโกงบ้านโกงเมือง เปลี่ยนแปลงประเทศ ล้มล้างสถาบัน พวกนี้มีปาก ลิ้น และความคิดที่ไม่บริสุทธิ์…..ผู้ต้องการรสพระธรรม จึงต้องเปิดให้พระธรรมเข้าทางหูด้วยการฟัง เข้าทางตาด้วยการอ่าน และรู้รสที่ใจในเวลาปฏิบัติธรรม ฉันนั้น
……คนบางคน นักการเมือง บางคน รสพระธรรมสามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงจิตใจ จากมีกิเลสเป็นไม่มีกิเลส จากมีกิเลสมากเป็นมีกิเลสน้อย จากชั่วเป็นดี จากทุกข์ใจเป็นสุขใจ เมื่อใดเมื่อนั้นก็จะซาบซึ้งในรสธรรม เห็นได้ชัดโดยไม่ต้องเชื่อใครว่า…
“รสพระธรรมชนะ รสทั้งปวง”
ฉันใดก็ฉันนั้น อยากมีผู้ปกครองบ้านเมืองที่ดีก็จะต้องมีหลักการปกครองที่ดีเสียก่อน….ต้องมีหลักการปกครองธรรมาธิปไตย ดังนั้น เสียงลือ เสียงเล่าอ้างว่าจะมีการปฏิวัติซ้อนคงจะไม่เกิดขึ้น
ม.จ. จุลเจิม ยุคล
สก็อตแลนด์
ขอบพระคุณ คุณชุมพล
หลักการปกครอง ธรรมาธิปไตย