พลตำรวจโท สมพงษ์ ชิงดวง รักษาราชการแทน ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (รรท.ผบช.สตม.) พร้อมด้วย พลตำรวจตรี อิทธิพล อิทธิสารรณชัย รองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (รองผบช.สตม.) (ปป),พลตำรวจตรี สรายุทธ สงวนโภคัย รองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (รองผบช.สตม.) (สส),พลตำรวจตรี กฤษกร พลีธัญญวงศ์ รองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (รองผบช.สตม.),พลตำรวจตรี ภาคภูมิภิภัทฒ์ สัจจพันธุ์ รองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (รองผบช.สตม.),พลตำรวจตรี สุรพงษ์ ชัยจันทร์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 รักษาราชการแทนรองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (รองผบช.ภ.7 รรท.รอง ผบช.สตม.),พลตำรวจตรี พนัญชัย ชื่นใจธรรม ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ผบก.สส.สตม.) และ พลตำรวจตรี อาชยน ไกรทอง ผู้บังคับการ ตรวจคนเข้าเมือง 3 (ผบก.ตม.3)
ได้ประสานความร่วมมือกับทางการญี่ปุ่น จับกุมแก๊งคอลเซ็นเตอร์รายสำคัญ ดังนี้ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2562 เจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการสืบสวนสอบสวน กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 3 (กก.สส.บก.ตม.3) ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดชลบุรีขอหมายศาลแขวงพัทยาเข้าตรวจค้นบ้านเลขที่ 78/219 หมู่บ้านสยามรอยัลวิลล์ หมู่ 10 ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี พบคนต่างด้าวสัญชาติญี่ปุ่นจำนวน 15 คน นั่งทำงานอยู่ในบ้านหลังดังกล่าวพร้อมอุปกรณ์ในลักษณะของกลุ่มคอลเซนเตอร์ เช่น ไอพีโฟน,เครื่องขยายสัญญาณอินเตอร์เน็ต,คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก,เอกสารข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เสียหายชาวญี่ปุ่น และ บทสนทนาสำหรับหลอกลวงเหยื่อ เป็นต้น จึงได้จับกุมดำเนินคดีในข้อหา “เป็นบุคคลต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร เป็นการชั่วคราวประกอบอาชีพโดยไม่ได้รับอนุญาต” ส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี
โดยมีแผนประทุษกรรมกล่าวคือ เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2562 กลุ่มชาวญี่ปุ่นทั้ง 15 คน ได้เดินทางเข้ามาประเทศไทยด้วยวีซ่าท่องเที่ยวเข้ามาอาศัยอยู่ที่บ้านดังกล่าวแล้วส่งใบแจ้งหนี้บริษัทที่มีชื่อเสียงในประเทศญี่ปุ่นปลอม หรือหมายศาลปลอม ไปหลอกลวงผู้เสียหายที่กลุ่มผู้ต้องหามีข้อมูลส่วนตัวอยู่แล้วทั้งชื่อ นามสกุล ที่อยู่ อีเมล์แอดเดรส เป็นต้น เพื่อให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าตนเคยสมัครใช้งานบริการทางอินเตอร์เน็ตแล้วค้างชำระค่าบริการ จะต้องรีบชำระค่าบริการเพื่อไม่ให้ถูกดำเนินคดีหรือเพื่อให้มีส่วนลดค่าบริการ โดยเมื่อผู้เสียหายติดต่อกับกลุ่มผู้ต้องหาซึ่งมีการจัดระบบไอพีโฟนในประเทศไทยเพื่อให้เชื่อว่าเป็นตัวแทนบริษัทเจ้าหนี้ซึ่งอยู่ในประเทศญี่ปุ่น แล้วหลอกผู้เสียหายให้ไปซื้อบัตรเติมเงินอิเลกทรอนิกส์ (e-money) ที่ร้านสะดวกซื้อใกล้บ้าน แล้วหลอกให้ผู้เสียหายส่งรหัสบัตรเติมเงินดังกล่าวให้กลุ่มผู้ต้องแล้วโอนเงินออกจากบัตรทันที
โดยการแถลงผลการดำเนินการในครั้งนี้ สืบเนื่องจากทางการญี่ปุ่นโดยผู้แทนสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยได้เข้าขอบคุณ พล.ต.ท.สมพงษ์ฯ ผู้บังคับบัญชา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากหลังจากการจับกุมดังกล่าวทางการญี่ปุ่นได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมาประสานข้อมูลการจับกุมเพื่อนำไปขยายผลต่อในประเทศญี่ปุ่น ทำให้ทราบว่ามีผู้เสียหายซึ่งถูกหลอกลวงจากผู้ต้องหา กลุ่มนี้ไม่ต่ำกว่า 200 ราย ความเสียหายไม่ต่ำกว่า 200 ล้านเยน ซึ่งศาลแขวงนครโตเกียวได้ออกหมายจับผู้ต้องหาทั้ง 15 ราย ดังกล่าวในข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกง” โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะได้ดำเนินการตามขั้นตอนการส่งกลับคนต่างด้าวต่อไป
การแถลงผลการดำเนินการในครั้งนี้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยมุ่งหวังให้ประชาชนโดยทั่วไปทั้งไทยและญี่ปุ่นทราบและรู้เท่าทันถึงพฤติการณ์ของคนร้ายกลุ่มดังกล่าวซึ่งเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของกลุ่มคอลเซ็นเตอร์ซึ่งอาจมีผู้ถูกหลอกลวงได้ทั้งในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น เพื่อไม่ให้ประชาชนของทั้ง 2 ประเทศ หลงเชื่อและเกิดความเสียหายขึ้นได้
พล.ต.ท.สมพงษ์ฯ ยังกล่าวด้วยว่า จากการสอบถามผู้ต้องหาส่วนใหญ่ ทราบว่าได้หลบหนีเข้ามาเพื่อทำงานในประเทศไทย นอกจากนี้ยังได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้ออกตรวจสถานบริการ โรงแรมและคอนโดมิเนียม ที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าวตลอดเวลา เพื่อนำมาวิเคราะห์เป็นข้อมูลท้องถิ่น ป้องกันเหตุอาชญากรรมที่อาจจะเกิดขึ้นได้ และหากประชาชนพบเห็นการกระทำผิดของคนต่างด้าว หรือคนต่างด้าวที่อยู่ใประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย สามารถแจ้งเบาะแสมาได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1178 หรือที่ www.immigration.go.th จักขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง
Cr.ทีมงานประชาสัมพันธ์ สตม.