ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 ประกาศการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย “สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ” ได้ปรับเปลี่ยนชื่อเป็น “สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ” เป็นหน่วยงานราชการในกระทรวงดังกล่าว ตาม พ.ร.บ. ใหม่
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า รัฐบาลได้มีการปฏิรูประบบการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เพื่อเป็นกลไกการบูรณาการการวิจัยและนวัตกรรมให้ตรงกับความต้องการและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยได้จัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมขึ้น โดยกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2562
มีผลใช้บังคับในวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 มีผลให้ วช. ได้ปรับเป็น “สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ” มีหน้าที่ใน 7 ภารกิจที่สำคัญในระดับประเทศ เป็นหน่วยงานให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมหลักของประเทศ จัดทำฐานข้อมูลและดัชนีวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ,ริเริ่ม ขับเคลื่อนและประสานการดำเนินงานโครงการวิจัยและนวัตกรรมที่สำคัญของประเทศ,จัดทำมาตรฐานและจริยธรรมการวิจัย,ส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้เพื่อใช้ประโยชน์,ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านวิจัยและนวัตกรรม และการให้รางวัล ประกาศเกียรติคุณหรือยกย่องบุคคลหรือหน่วยงานด้านวิจัยและนวัตกรรม
ทั้งนี้ วช.ได้เตรียมการเรียบร้อยแล้ว พร้อมปฏิบัติงานได้ทันที โดยเฉพาะด้านการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมหลักของประเทศ ซึ่ง วช.ได้นำเสนอทิศทางใหม่ของระบบทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ดังนี้
1.Multi-year funding ด้วยการจัดสรรเงินตามกรอบวงเงินจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ได้อย่างต่อเนื่องจนโครงการสำเร็จได้
2.Outcome- and impact- driven เพื่อให้ทุนในเชิงรุกตามประเด็นยุทธศาสตร์ให้เกิดผลลัพธ์และผลกระทบสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ
3.Synergy & partnership เชื่อมโยงและเสริมพลัง ระหว่างหน่วยให้ทุน (วช., สวก., สวรส.) มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยทั้งในและนอกกระทรวง และการให้ทุนวิจัยครอบคลุมการวิจัยพื้นฐาน วิจัยประยุกต์ ทั้งวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ รวมทั้ง สหสาขาวิชาการ และเชื่อมกับการพัฒนาบุคลากรวิจัยและการให้รางวัล
4.Streamlined process โดยพัฒนากลไกการทำงานด้วยระบบ Online 100% 5G- funding,กลไก ODU,Program Funding และ Matching Fund และ Monitoring and Evaluation โดยผู้ใช้ผลการวิจัย
ทั้งนี้ วช. มีความพร้อมในการปรับระดับการทำงานที่สอดรับกับภารกิจใหม่ โดยยึดหลักรวดเร็ว ว่องไว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เฉกเช่นเดียวกับระบบการสื่อสารในอนาคต ยุค 5G ที่ตอบสนองไว รับส่ง ถ่ายโอน และเชื่อมต่อข้อมูลได้หลากหลาย เพื่อนำ วช.สู่การสร้างวัฒนธรรมใหม่ในการเป็น วช. 5G
อันประกอบด้วย Speed ทำงานได้รวดเร็วขึ้น Start เริ่มทำงานได้ทันที ตอบสนองฉับพลัน Scope ขยายขอบข่ายการทำงานในระดับชาติ และนานาชาติ Connectivity เชื่อมโยงการทำงานระหว่างหน่วยงานวิจัยทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ Low Energy มีผลสัมฤทธิ์โดยใช้ต้นทุนต่ำแต่ได้งานมาก Smooth ลดขั้นตอนการทำงานที่ไม่จำเป็น สามารถทำงานโดยไม่มีข้อจำกัด และ New Features คิดริเริ่มงานใหม่ งานที่ไม่เคยทำหรืองานที่ไม่มีใครเคยทำ
โดยได้เตรียมความพร้อมในการทำงานให้สอดคล้องกับทิศทางและเป้าหมายใหม่ได้ทันที ซึ่งการขับเคลื่อนนี้ต้องรวมพลังของบุคลากรและหน่วยงานในระบบวิจัยทั้งหมดร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสังคมไทยไปด้วยกัน ซึ่งการบริหารงานในส่วนของอุดมศึกษานั้นต้องเป็นเอกภาพ มีอิสระ และที่สำคัญกระทรวงดังกล่าวนี้จะเป็นกระทรวงที่รวมสถาบันอุดมศึกษาที่เชื่อมต่อไปยังแผนงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมที่ลงตัวที่สุดจนนำไปสู่การพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/057/T_0079.PDF