ในการประชุมหารือระหว่าง คณะกรรมาธิการการเมืองสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)และ อนุกรรมาธิการด้านการเมือง อนุกรรมาธิการด้านระบบการเลือกตั้งและพรรคการเมือง อนุกรรมาธิการด้านองค์กรตามรัฐธรรมนูญ มาประชุมหารือร่วมกันกับประธานกกต. กกต. และผู้บริหารของสำนักงานฯนั้น มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในประเด็นความคืบหน้า การเตรียมความพร้อมของสำนักงานกกต.ตามหน้าที่และอำนาจตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง
โดยตอนหนึ่งในการหารือกรรมาธิการการเมือง สนช.สนใจซักถาม คือ เรื่องการกำหนดวันที่ 24 ก.พ. 62 เป็นวันเลือกตั้งว่า เป็นมาอย่างไร และถ้าวันที่ 24 ก.พ. 62 เป็นวันเลือกตั้งผู้ที่จะลงสมัคร ส.ส.ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอย่าช้าที่สุดคือภายในวันที่ 26 พ.ย.นี้ แต่หากว่า หลังวันดังกล่าว พรรคการเมืองนั้นถูกยุบ การไปสังกัดพรรคการเมือง จะทำให้มีปัญหาในการลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่
ขณะที่ กกต.ได้ชี้แจงว่า วันที่ 24 ก.พ. 62 เป็นการคาดการณ์ โดยพิจารณาจากวันที่พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส่วนส.ส.จะมีผลบังคับใช้ เพื่อเป็นการเร่งรัดการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สำนักงานฯจะได้มีความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งมากที่สุดเท่านั้น แต่ที่สุดแล้ววันเลือกตั้งจะเป็นวันใดก็ขึ้นอยู่กับการประชุมตามข้อ 8 ของคำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 หลังพ.รป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.มีผลบังคับใช้
ในส่วนหากมีการยุบพรรคการเมืองหลังวันที่ 26 พ.ย. สมาชิกก็ต้องไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคใหม่ แต่จะลงสมัครรับเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ.ไม่ได้ เพราะถือว่า สังกัดพรรคการเมืองนั้นมายังไม่ถึง 90 วัน
ส่วนข้อซักถาม กกต.ได้มีการวางมาตรการป้องกัน หรือรับมืออย่างไร กรณีหากเกิดการชุมนุมขัดขวางการเลือกตั้งเหมือนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 57 ทาง กกต. ชี้แจงว่า สำหรับการรับมือกับการชุมนุมประท้วงต่างๆ นั้นได้ประสานงานกับหน่วยงานความมั่นคงในเรื่องการข่าว การรักษาความสงบเรียบร้อยอยู่แล้ว โดยจะมีการสกัดกั้นไม่ให้มีการก่อตัวชุมนุมได้
นอกจากนี้ทาง กกต. ยังได้ชี้แจงถึงเรื่องการขอเข้าสังเกตการณ์การเลือกตั้งขององค์กรต่างประเทศว่า ทางอียูได้ขอที่จะส่งผู้สังเกตการณ์เข้ามา 200-400 คน โดยขอที่จะไปสังเกตการณ์ในทุกพื้นที่ ซึ่งถือว่า จำนวนมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ กกต. ยังไม่ได้การประชุมหารือกัน