”ผบ.ต่าย”ลุยเองแก้วิกฤต พนักงานสอบสวนขาด-งานล้น ลุ้นนายกฯไฟเขียวจัดงบฯ

1015


     “นับแต่ที่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.)นั่งหัวโต๊ะหารือกับคณะกรรมการส่งเสริมงานสอบสวน มีทั้ง รอง ผบ.ตร. ผู้ช่วยผบ.ตร.และคณะที่ปรึกษาคณะกรรมการส่งเสริมงานสอบสวนเป็นมือสอบสวนชั้นครู อาทิ พล.ต.อ.วุฑฒิชัย ศรีรัตนวุฒิ พล.ต.ท.จักรทิพย์ กุญชร ณ อยุธยา และ พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน เป็นต้น เพื่อหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาขาดแคลนพนักงานสอบสวน ที่อยู่ในขั้นวิกฤต เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา

                  ในที่ประชุม พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ เน้นรับฟังความเห็น ข้อเสนอแนะและแนวทางการแก้ปัญหาขาดแคลนพนักงานสอบสวน รวมถึงแนวทางการสร้างขวัญกำลังใจพนักงานสอบสวนได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถดำรงตนในความยุติธรรมได้อย่างสมศักดิ์ศรี ซึ่งปัญหานี้ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ให้ความสำคัญอย่างสูงด้วยการรับเป็นหัวเรือใหญ่ในการขับเคลื่อน  เพราะพนักงานสอบสวนคือต้นธารของกระบวนยุติธรรม  แต่ในช่วงเกือบ 10ปีที่เผด็จการทหารครอง อยู่ในภาวะบิดเบี้ยวพนักงานสอบสวนย้ายไปสายงานอื่นเพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่ราชการ  

               หากย้อนไปปี 2557 ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.)กลายเป็นเบี้ยล่างที่เผด็จทหารปล่อยให้นายพลเด็กปู้ยี่ปู้ยำ ใช้อำนาจตามอำเภอใจแบบที่ ผบ.ตร.ยุคนั้นทำได้แค่นั่งดูตาปริบๆ
               งานสอบสวนซึ่งเป็นหัวใจหลักในการทำสำนวนคดีเพื่อลากอาชญากรเข้าคุก ถูกรัฐบาลยุค คสช.สั่งยกเลิกเส้นทางความก้าวหน้าของพนักงานสอบสวนที่เรียกกันติดปากว่าระบบแท่งพนักงานสอบสวน ซึ่งเป็นระบบที่พนักงานสอบสวนสามารถคาดการณ์ความก้าวหน้าของตัวเองได้โดยไม่ต้องวิ่งเต้นเข้าหาผู้มีอำนาจหรือต้องใช้ปัจจัยนำทางเข้าหาผู้มีอำนาจเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่ง

              ส่งผลให้พนักงานสอบสวนวิ่งเต้นไปอยู่สายอื่นที่สามารถแสวงหาผลประโยชน์นำเงินไปจ่ายให้ผู้มีอำนาจเพื่อความก้าวหน้าได้  ส่งผลให้พนักงานสอบสวนขาดแคลนในระดับวิกฤต งานล้นมือ เกิดภาวะเครียด บางรายป่วย บางรายหมดแรงจูงใจในการทำงาน จนสังคมเริ่มตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรม

            ซึ่ง พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.)ได้สะท้อนผ่านสื่อโซเซียลอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นค่าตอบแทนการทำสำนวนน้อยไม่พอเลี้ยงชีพ ขาดผู้ช่วย ขาดเครื่องมือและอุปกรณ์ที่จำเป็น คดีออนไลน์เพิ่มขึ้นมหาศาล ปี2566-67 เฉลี่ยวันละ 800 คดี รวมปีละเกือบ 300,000 คดี พนักงานสอบสวนคนหนึ่งต้องรับผิดชอบ 200-300 คดี/ปี ทั้งทีมาตรฐานไม่ควรเกิน 70 คดี


           รวมถึงตำแหน่งพนักงานสอบสวนทั่วประเทศ 18,000 ตำแหน่ง แต่มีคนทำงานจริงเพียง 12,000 คน ขาดแคลนถึง 6,000 คน ผลที่ตามคือกระบวนการสอบสวนล่าช้าประชาชนต้องวิ่งเต้นกับสื่อหรืออินฟูลเอนเซอร์ เพื่อให้คดีของตนคืบหน้า ความเชื่อมั่นในตำรวจถดถอยอย่างน่ากังวล

         นอกจากนี้ พล.ต.อ.เอก บอกว่าช่วงมีนาคม 2566 เข้าทำทำหน้าที่ ก.ตร. ได้เสนอปัญหานี้ต่อที่ประชุม ก.ตร.ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า อบรมและแต่งตั้งพนักงานสอบสวนใหม่ปีละ 1,000 นาย รวม 4 ปี 4,000 นาย เพิ่มค่าตอบแทนและค่าสำนวน แต่งตั้งผู้ช่วยพนักงานสอบสวนเพิ่มเติม และตั้งคณะอนุกรรมการก.ตร.พัฒนางานสอบสวนเพื่อติดตามและผลักดันนโยบายอย่างต่อเนื่อง


    “แต่อุปสรรค์สำคัญคืองบประมาณไม่เพียงพอ ทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำได้แค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งรัฐบาลต้องผลักดันและสนับสนุนอย่างจริงจัง”พล.ต.อ.เอก ระบุ

     แต่ข้อมูลของสำนักงานกำลังพลพบว่าในปี 2565 รับพนักงานสอบสวนเข้าอบรมและเข้าปฏิบัติหน้าที่แล้ว 1,604 นาย จากนั้นทิ้งช่วงมาปี 2568 อยู่ระหว่างอบรม 1,174 นาย สรรหาแล้วรออบรม 900 นาย และรอสรรหาอีก 1,350 นาย ขณะเดียวกันมีนักเรียนนายร้อยตำรวจ 4 ชั้นปี จำนวน 1,234 นาย ทยอยเข้าเป็นพนักงานสอบสวน

 “ เมื่อดูจากตัวเลขที่อยู่ระหว่างอบรม รออบรมและรอสรรหา ถ้าสามารถดำเนินการสำเร็จภายในปี 2568 จะมีพนักงานสอบสวนเพิ่มขึ้นกว่า 3,000 นาย ไม่รวมนรต. แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับงบประมาณที่รัฐบาลจะจัดสรรให้ แต่ถ้ารัฐบาลไม่ให้ความสำคัญจะได้พนักงานสอบสวนเพิ่มแค่พันกว่านาย


    ดังนั้นการที่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ให้ความสำคัญถือธงนำแก้ปัญหานี้ ถือว่ามาถูกทางแล้ว เพราะปัญหานี้ปัจจัยสำคัญอยู่ที่งบประมาณ ซึ่ง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ สามารถสื่อสารกับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้โดยตรงในฐานะที่กำกับดูแลตร.

       ซึ่งงบประมาณปี 2569 ที่กำลังเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ถ้าทางตร.ไม่สามารถเสนอของบประมาณตามปกติได้ทัน สามารถประสานของบฯกลางสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรีได้อยู่แล้ว ซึ่งปีนี้มีกว่า 600,000 ล้าน

  “ประดู่แดง”เชื่อว่าด้วยศักยภาพในเชิงบริหารที่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ มีอยู่เต็มเปี่ยมสามารถเจรจาโน้มน้าวให้ น.ส.แพทองธาร เห็นความสำคัญของการแก้ปัญหางานสอบสวนที่อยู่ในภาวะวิกฤตด้วยการอนุมัติงบประมาณที่เป็นปัจจัยสำคัญเพื่อแก้ปัญหาให้ลุล่วงก่อนที่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ เกษียณอายุปี 2569 ได้ !!!