เจาะลึกระบบการศึกษาจีน และกลยุทธ์สร้างมหาวิทยาลัยระดับโลกผ่านนโยบาย 985, 211 และ “ดับเบิ้ลท็อปเท็น” จากมุมมอง “ศ.ดร.จรัสศรี จิรภาส” นักวิชาการไทยในแดนมังกร

ในโลกที่การศึกษากลายเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนประเทศอย่างสำคัญ ประเทศจีนคือหนึ่งในตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุดของการลงทุนด้านการศึกษาที่เข้มข้นและต่อเนื่อง ไม่เพียงเพื่อยกระดับประชากร แต่เพื่อผลักดันประเทศสู่ความเป็นผู้นำระดับโลกอย่างแท้จริง
ศ.ดร.จรัสศรี จิรภาส อาจารย์ประจำสถาบันเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง ได้ร่วมบอกเล่าประสบการณ์ตรงในเวที “ประเทศจีนในสายตาของฉัน” ต่อผู้เข้าร่วมโครงการพัฒนาทักษะผู้สื่อข่าวและสื่อมวลชนไทย (สบทจ.1) ณ กรุงปักกิ่ง โดยเน้นย้ำว่า จีนคือประเทศที่ “เอาจริงเรื่องการศึกษา” และไม่มีวันหยุดพัฒนา โดยได้เปิดมุมมองลึกซึ้งเกี่ยวกับระบบการศึกษาของจีนและแนวทางการผลักดันมหาวิทยาลัยสู่ระดับโลก
การศึกษาภาคบังคับ 9 ปี: จุดแข็งของการพัฒนาชาติ
ศ.ดร.จรัสศรี ระบุว่า ประเทศจีนให้ความสำคัญกับการศึกษาถือเป็นนโยบายภาครัฐที่เข้มข้นที่สุด โดยบังคับให้เด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษาฟรี 9 ปี หากครอบครัวใดไม่ส่งเด็กไปเรียนจะมีเจ้าหน้าที่เข้าพูดคุยถึงสาเหตุทันที เพราะรัฐบาลจีนมองว่าการศึกษาคือหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศ
“การศึกษาคือหัวใจของการพัฒนาประเทศ จีนไม่ยอมปล่อยให้เด็กหลุดจากระบบง่ายๆ ถึงขั้นตามไปพูดคุยถึงบ้าน เพื่อให้เด็กได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง”
ศ.ดร.จรัสศรีฯ ยังยกตัวอย่างว่าผู้ปกครองจีนจำนวนมากยอมเสียสละคุณภาพชีวิต เช่น ย้ายจากบ้านหลังใหญ่ในต่างจังหวัดมาเช่าห้องเล็กๆ ในปักกิ่ง เพียงเพื่อให้ลูกได้เข้าโรงเรียนที่มีคุณภาพ โดยเด็กๆ จะใช้ชีวิตตามแบบฉบับ “เช้าไปเรียน เย็นกลับมาทำการบ้านอ่านหนังสือ” ซึ่งสะท้อนความตั้งใจอย่างแรงกล้าของทั้งผู้ปกครองและนักเรียน
ระบบการจัดกลุ่มมหาวิทยาลัยจีน: 985, 211 และดับเบิ้ลท็อปเท็น

หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ ศ.ดร.จรัสศรีฯ กล่าวถึง คือการจัดกลุ่มมหาวิทยาลัยของจีน ซึ่งเป็นระบบการสนับสนุนจากรัฐบาลในการยกระดับสถาบันการศึกษาให้แข่งขันได้ในระดับโลก
1.กลุ่ม 985 (Project 985)
คือกลุ่มมหาวิทยาลัยชั้นนำที่รัฐบาลจีนคัดเลือกและทุ่มงบประมาณสนับสนุนเพื่อผลักดันให้เป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก เน้นการวิจัยขั้นสูงและความเป็นเลิศในทุกสาขา เช่น มหาวิทยาลัยชิงหัว มหาวิทยาลัยปักกิ่ง มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง ฯลฯ
2. กลุ่ม 211 (Project 211)
เป็นกลุ่มมหาวิทยาลัยที่รัฐบาลจีนต้องการพัฒนาให้เป็นสถาบันระดับประเทศ โดยเน้นความแข็งแกร่งในวิชาชีพและการพัฒนาบุคลากร ซึ่งอาจไม่ได้มีศักยภาพสูงเท่ากลุ่ม 985 แต่ก็เป็นแกนหลักของระบบอุดมศึกษาจีน
“หากเปรียบกลุ่ม 985 เป็นดุมกลางของล้อแม็ก กลุ่ม 211 ก็เป็นวงแหวนรอบที่สองที่คอยเสริมความแข็งแกร่งให้ระบบอุดมศึกษา” ดร.จรัสศรีกล่าว
3.กลุ่ม ดับเบิ้ลท็อปเท็น
เป็นนโยบายใหม่ของรัฐบาลจีนที่ต้องการยกระดับมหาวิทยาลัยหรือหลักสูตรเฉพาะให้โดดเด่น แม้จะไม่ได้อยู่ในกลุ่ม 985 หรือ 211 โดยมุ่งเน้นให้แต่ละสถาบันพัฒนา “คณะหรือสาขาวิชาชั้นนำ” เพื่อให้แข่งขันได้ในเวทีโลก ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยเหมืองแร่ ที่แม้ไม่อยู่ในกลุ่ม 985 หรือ 211 แต่สามารถพัฒนาสาขาเหมืองแร่ให้เป็นอันดับ 1 ของประเทศได้
ความใฝ่ฝันของเยาวชนในจีน: ก้าวไกลด้วยการศึกษา

ศ.ดร.จรัสศรีฯ ยกตัวอย่างเด็กจากเขตปกครองตนเองซินเจียงที่ตั้งใจสอบเข้ามหาวิทยาลัยชิงหัว โดยระบุว่านี่คือภาพสะท้อนของพลังฝันและความมุ่งมั่นของเยาวชนจีน แม้จะอยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางการศึกษา แต่ก็ยังมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่
“เพราะการศึกษาเป็นรากฐานของความเข้าใจและการพัฒนา”
ศ.ดร.จรัสศรีฯ เน้นย้ำว่า ประเทศจีนให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างยิ่ง ไม่เพียงแค่ระดับภาคบังคับ แต่ยังสนับสนุนสถาบันอุดมศึกษาให้ก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง การที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ต้องพยายามไต่ระดับเข้าสู่กลุ่ม 985, 211 หรืออย่างน้อยเป็นดับเบิ้ลท็อปเท็น คือภาพสะท้อนของระบบการศึกษาที่แข่งขันกันด้วยคุณภาพ เพื่อสร้างอนาคตที่มั่นคง