
ในโลกของการทูตที่คำพูดและข้อตกลงมีบทบาทสำคัญ ของขวัญชิ้นหนึ่งสามารถแทนถ้อยคำพันคำ และสะท้อนสายสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างลึกซึ้ง ผู้เขียนได้มีโอกาสออกเดินทางร่วมกับคณะผู้เข้าอบรมในโครงการพัฒนาทักษะผู้สื่อข่าวและสื่อมวลชนไทย ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน (สบทจ.1) และมีโอกาสเยี่ยมชม ศูนย์บริหารจัดการของขวัญและโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมส่วนกลางของจีน (Central Gifts and Artifacts Center) ซึ่งทำหน้าที่เสมือน “พิพิธภัณฑ์แห่งมิตรภาพ” ของผู้นำจีนกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

สถานที่แห่งนี้จัดแสดงของขวัญทางการทูตกว่า 680 ชิ้น ที่มอบให้แก่ผู้นำจีนตั้งแต่ปี 1949 สิ่งของแต่ละชิ้นไม่ได้เป็นเพียงของขวัญ หากแต่คือ “หลักฐานทางประวัติศาสตร์” ที่บอกเล่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในแต่ละยุคสมัย เช่นเดียวกับฉากแกะสลักไม้ภายในศูนย์ ที่ถ่ายทอดแนวคิด “มีมิตรสหายมาจากแดนไกล” แสดงถึงจิตวิญญาณของการต้อนรับ พร้อมลวดลาย “ร้อยบุปผา” จาก 54 ประเทศ สะท้อนความหลากหลายของมิตรภาพที่จีนสั่งสมมายาวนาน
หนึ่งในจุดที่สร้างความประทับใจอย่างยิ่งคือ จิตรกรรมฝาผนังขนาดใหญ่ชื่อ “志合越山海” (“จื้อเหอ เยวี่ยซานไห่”) หรือ “หากมีความมุ่งมั่นที่สอดคล้องกัน แม้ภูเขาและทะเลก็ไม่อาจขวางกั้นได้” ที่สะท้อนแนวคิดของความร่วมมือและไมตรีระหว่างประเทศ ซึ่งแม้จะมีพรมแดน แต่จิตใจที่แน่วแน่ในมิตรภาพสามารถเชื่อมโยงกันได้เสมอ

สำหรับประเทศไทย หนึ่งในของขวัญที่มีความหมายลึกซึ้ง คือ “ช้างไม้สักกำลังขนไม้” ซึ่ง พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ มอบให้ เติ้ง เสี่ยวผิง ในปี 1978 หลังจากจีนพ้นยุคปฏิวัติวัฒนธรรม โดยช้างไม่เพียงเป็นสัตว์สำคัญในวิถีชีวิตไทย แต่ยังสะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่หวนคืนสู่ความแน่นแฟ้นของไทย-จีนในยุคใหม่
ของขวัญจากประเทศอื่น ๆ ก็ทรงคุณค่าไม่แพ้กัน เช่น หงส์พอร์ซเลนที่ริชาร์ด นิกสัน มอบแก่ เหมา เจ๋อตง ในปี 1972 เพื่อแสดงเจตจำนงสันติภาพท่ามกลางสงครามเย็น หรือแจกันสูง 2.2 เมตรจากคิม จองอึน ที่มาพร้อมนกหงส์สีขาวเป็นสัญลักษณ์มงคล และแม้แต่ภาพวาดจากลูกชายของเดวิด แคเมอรอน ที่เขียนข้อความภาษาจีนว่า “ยินดีต้อนรับสู่บ้านของเรา” ก็บ่งบอกถึงมิตรภาพไร้พรมแดนผ่านสายตาบริสุทธิ์ของเด็ก

นอกจากนี้ อีกส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ในชั้นสองยังมีการจัดแสดงบทบาทและความ สัมพันธ์กับประเทศ ต่างๆ ในเวทีระดับโลก
การเยี่ยมชมครั้งนี้ไม่เพียงเป็นประสบการณ์ทางสายตา แต่ยังเป็นการตระหนักถึงพลังของ soft power ที่จีนใช้เป็นเครื่องมือเชื่อมโยงโลก ผ่านวัตถุเล็กๆ ที่มีความหมายใหญ่หลวง ศูนย์กลางของขวัญทางการทูตนี้จึงเปรียบเสมือนหอจดหมายเหตุของสายสัมพันธ์ ที่บันทึกไว้ด้วยภาษาศิลป์แทนคำพูด
