“ ตอนที่ 1 นำเสนอถึงสาเหตุในการรื้อฟื้นคดีที่นายวรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทกระทิงแดงขับรถยนต์ชนตำรวจสน.ทองหล่อ เสียชีวิต เพื่อให้รับโทษน้อยลงหรือมิต้องรับโทษ กระทั่งนำไปสู่การฟ้องผู้เกี่ยวข้อง 8 คน“

โดยอัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีตผบ.ตร.และอดีต สนช. จำเลยที่ 1 พล.ต.ต.ธวัชชัย เมฆประเสริฐสุข อดีตผู้บังคับการกองพิสูจน์หลักฐานกลาง จำเลยที่ 2 พ.ต.อ.วรดล ทับทิมดี อดีตพนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ จำเลยที่ 3 นายชัยณรงค์ แสงอร่าม อดีตพนักงานอัยการคดีพิเศษ กองคดีอาญา 6 จำเลยที่ 4 นายธนิต บัวเขียว อดีตทนายความนายวรยุทธ จำเลยที่ 5 นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร อดีตสมาชิกวุฒิสภา จำเลยที่ 6 นายสายประสิทธิ์ เกิดนิยม อาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จำเลยที่ 7 และนายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด จำเลยที่ 8 ต่อศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ศาลพิพาษายกฟ้องจำเลยที่ 1-3และ 5-7 จำคุกจำเลยที่ 4และ จำเลย 8
พลันที่คำพิพากษาแพร่ออกไปมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบต่อกรณียกฟ้องจำเลยทั้ง 6 คน โดยเฉพาะประเด็นใช้อิทธิพล บังคับ กดดัน โน้มน้าว พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ แตงจั่น นักวิทยาศาสตร์(สบ2)ยึดถือการการคำนวณความเร็วตามที่จำเลยที่ 7 นำเสนอ ซึ่งจำเลยที่ 1-3 ตกเป็นเป้าหลัก
จากประเด็นดังกล่าวศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้เผยแพร่คำพิพากษาตอนหนึ่งระบุว่า ปัญหาว่าจำเลยที่ 3 ในฐานะพนักงานสอบสวนมีอำนาจและหน้าที่ที่จะนัดหมายและนัดแนะเพื่อจะสอบปากคำ พ.ต.อ.ธ เพิ่มเติม มีอำนาจที่จะจัดประชุมแสดงวิธีคำนวณความเร็วของรถยนต์ได้โดยชอบหรือไม่ เมื่อพิเคราะห์ตามประมวลกฎหมายพิจารณาความอาญา ลักษณะที่ 2 ว่าด้วยการสอบสวนสามัญ เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะดำเนินการตามที่เหตุสมควร
การที่จำเลยที่ 3 สอบปากคำเพิ่มเติมกับมีบุคคลอื่นเข้าร่วมฟังการสอบสวน ไม่ทำให้การสอบสวนเสียไป เพราะดำเนินการตามระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดีพ.ศ. 2544 ลักษณะ 8 การสอบสวนบทที่ 5 หลักการถามปากคำพยาน ระบุไว้ในข้อ 251-254 ระบุถึงหลักการถามปากคำพยาน อำนวยความสะดวกแก่พยาน การทำความจริงให้ปรากฏ ดังนั้นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสำนวนคดีย่อมมีดุลพินิจตามสมควรว่าพยานที่จะมาให้การ ผู้ที่จะร่วมแสดงความเห็นเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ เพื่อประโยชน์ต่อรูปคดีไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง การประชุมเพื่อแสดงวิธีการคำนวณความเร็วสามารถทำได้โดยชอบ
เมื่อจำเลยที่ 3 รับทราบคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม จึงติดต่อขอสอบปากคำ พ.ต.อ.ธ ต่อมาจำเลยที่ 3 เดินทางไปสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ทาง พ.ต.อ.ธ แจ้งถึงสาเหตุประชุมด้วยวาจาต่อจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้บังคับบัญชา จำเลยที่ 2 แจ้งต่อ พล.ต.อ.ม ในฐานะผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานฯในขณะนั้น เพราะเป็นคดีสำคัญ พล.ต.อ.ม ให้ใช้ห้องประชุมสำนักงานฯ พล.ต.อ.ม และจำเลยที่ 2 ย่อมมีสิทธิโดยชอบในการร่วมประชุมคำนวณความเร็ว โดยไม่จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 3 แต่อย่างใด ทางไต่สวนมิได้มีการนัดแนะหรือมีพฤติกรรมอื่น ที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2และ 3 ร่วมสมคบคิดหรือร่วมกันวางแผนให้มีการประชุมตามฟ้อง
ทั้ง พ.ต.อ.ธ ให้การไต่สวนว่าเป็นผู้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบว่าจำเลยที่ 3 จะมาสอบสวนเพิ่มเติมตามคำสั่งของอัยการ และมีผู้มาอธิบายถึงการคำนวณความเร็วที่ไม่ตรงกับที่ตนทำรายงานไว้ ทาง พล.ต.อ.ม ยืนยันว่าในวันเกิดเหตุได้อนุญาตให้ใช้ห้องประชุม ที่อยู่ติดกับห้องทำงานเพื่อประชุมระดมความคิดเห็น โดยสั่งให้พนักงานที่เกี่ยวข้องร่วมปรึกษาพูดคุย และวันนั้นไม่ได้นัดหมายจำเลยที่ 1 มาร่วมประชุม แต่จำเลยที่ 1 เดินทางมาเป็นการนัดหมายตามปกติ เนื่องจากช่วงรับราชการมีความสนิทสนมกันมากว่า 10 ปี
เมื่อพิเคราะห์ประกอบริบทข้อความสนทนาของจำเลยที่ 1 กับจำเลยและบุคคลอื่นตามวัตถุพยานคลิปบันทึกเสียง จำเลยที่ 1 สอบถาม พล.ต.อ.ม ว่า “มีอะไรกัน” พล.ต.อ.ม บอกว่านัดสอบปากคำเรื่องความเร็วรถยนต์ของนาย ว. ตามคำสั่งอัยการ จำเลยที่ 1 ถามว่า”เป็นความลับไหม เข้าฟังได้ไหม” พล.ต.อ.ม บอกว่า”ไม่เป็นความลับ เป็นเรื่องทางวิชาการ” จำเลยที่ 1 ถามว่า”ห้องว่างหรือเปล่า ไปฟังด้วย ไปฟังกันเยอะๆ มีอะไรจะได้แสดงความเห็นกัน” จึงน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ไม่ทราบว่าจะมีการประชุม พล.ต.อ.ม ยืนยันว่าจำเลยที่ 1 แสดงความสนใจ ขออนุญาต ตนจึงให้เข้าร่วมฟัง เพราะเป็นการคุยทางวิชาการ
เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 ชักชวนให้คนอื่นเข้าประชุมเยอะ ถ้อยคำนี้แสดงให้ถึงการเปิดเผยไม่มีการปกปิดในสถานที่ราชการและเวลาราชการที่มีคนอยู่จำนวนมาก เมื่อเข้าห้องประชุมมีการแนะนำให้รู้จักจำเลยที่ 7 ทักทายและคุยถึงการทำคดีที่เคยร่วมงานกันมาก่อน จำเลยอื่นรู้จักกับจำเลยที่ 1 เพราะเป็นอดีตผู้บังคับบัญชา จำเลยที่ 1 อยู่ในห้องประชุมเป็นเวลา 25.56 นาที ออกจากห้องไปพบอุปทูตไทยประจำบราซิลที่ห้อง พล.ต.อ. ม ประมาณ 5-10นาที จากนั้นไปประชุมคณะกรรมการตัดสินอาวุโสในฐานะนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ที่โรงแรมย่านรัชดาภิเษก หากจำเลยที่ 1 ประสงค์ผลในการนัดหมาย ลักษณะสมคบคิดวางแผน เพื่อเปลี่ยนแปลงความเร็วย่อมนัดหมายในวันที่ไม่ตรงกับภารกิจอื่น จะได้ใช้เวลาหลายชั่วโมงอยู่ในห้องประชุมเพื่อแสดงความเห็น เมื่อจำเลยที่ 1 ออกจากห้องประชุมแล้วไม่ได้กลับมา
พฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับริบทคำพูดต่างๆ ไม่อาจแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1ถึงที่ 3 ทราบว่าว่าอาจารย์ที่จะเชิญมาอธิบายวิธีการแสดงความเร็วเป็นจำเลยที่ 7 พยานหลักฐานตามที่ไต่สวนไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 สมคบวางแผนหรือคบคิดกับบุคลอื่นในการนัดหมายให้มีประชุมตามฟ้อง
การที่ พล.ต.อ.ม เป็นผู้บังคับบัญชาของ พ.ต.อ.ธ ชักชวนจำเลยที่ 1 เข้าร่วมฟังวิธีคำนวณความเร็ว ย่อมสามารถทำได้ แม้แต่ พ.ต.อ.ธยังชักชวน พ.ต.อ.ว มาร่วมรับฟัง ในฐานะเพื่อนร่วมงานได้ ดังนั้นจำเลยที่ 3 ในฐานะพนักงานสอบสวนชอบที่จะดำเนินการเห็นสมควรในขอบเขตของกฎหมาย
ดังนั้นการที่จำเลยที่ 3 สอบสวนเพิ่มเติมพยานโจทก์ปาก พ.ต.อ.ธ การที่จำเลยที่ 1ถึงที่ 5 และที่ 7 และบุคคลอื่นร่วมอยู่ด้วยและประชุมเพื่อแสดงวิธีการคำนวณความ มิใช่การสมคบกันทำผิดกฎหมาย !!!
ติดตาม ตอนที่ 3 จะนำเสนอประเด็นว่ามีการใช้อิทธิพล บังคับ กดดัน หรือไม่.?
