กรมโรงงานฯ สนองนโยบาย “สู้เซฟสร้าง” ดันทุก รง.สู่ “อุตสาหกรรมสีเขียว” ภายในปี 68 พร้อมจับมือพันธมิตรปล่อย “กรีนโลน”

199

กรุงเทพฯ วันที่ 21 เม.ย. นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม แสดงวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนนโยบาย “สู้ เซฟ สร้าง” ภายใต้แนวทาง “ปฏิรูปอุตสาหกรรม ไทย สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส” โดยเน้นย้ำว่าทุกภาคส่วนในกระทรวงอุตสาหกรรมต้องเร่งดำเนินการตามนโยบายเพื่อดูแลอุตสาหกรรมไทย และ สร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นอุตสาหกรรมสีเขียวเพื่อช่วยให้โรงงานสามารถเดินหน้าต่อได้อย่างยั่งยืน ไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม พร้อมประกาศชัดว่าหากโรงงานใดยังละเลยและฝ่าฝืนกฎหมาย ะดำเนินการปิดกิจการอย่างเด็ดขาด

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ขานรับนโยบายรัฐมนตรีพร้อมแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยมอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ เดินหน้าส่งเสริมและผลักดันให้โรงงานอุตสาหกรรมได้รับการรับรองเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวทุกแห่งภายในปี 2568 ซึ่งเป็นการยกระดับคุณภาพการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมกำหนดตัวชี้วัดและกลไกติดตามผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันภาคอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตอย่างมีความรับผิดชอบ

นายพรยศ กลั่นกรอง อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้เปิดฉากการขับเคลื่อนเชิงปฏิบัติการผ่านกิจกรรมอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอุตสาหกรรมสีเขียว ประจำปี 2568 โดยเดินสายจัดโรดโชว์ จำนวน 10 ครั้งทั่วประเทศ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ข้อกำหนดอุตสาหกรรมสีเขียว (ฉบับปรับปรุง) การประเมินความพร้อมสู่อุตสาหกรรม 4.0 ผ่านระบบ Thailand i4.0 Checkup การจัดทำแผนงานสิ่งแวดล้อม มาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR-DIW) คาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร (CFO) และการใช้งานระบบ GI Platform เพื่อบริหารจัดการข้อมูลสีเขียวอย่างเป็นระบบ แก่ผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ภาครัฐ

นอกจากนี้ อธิบดีกรมโรงงานฯ ยังเดินหน้าผนึกกำลังพันธมิตร เพิ่มแรงจูงใจด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการที่ผ่านเกณฑ์อุตสาหกรรมสีเขียว ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จัดโครงการ BDS ให้เงินอุดหนุนแบบร่วมจ่าย (Copayment) 50–80% สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท/ปี ให้แก่ SME ที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อนำไปพัฒนาธุรกิจ เช่น การขอรับรองมาตรฐาน ISO หรือการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สนับสนุนเครื่องมือประเมินองค์กรผ่าน Thailand i4.0 CheckUp พร้อมให้คำปรึกษาด้านการลงทุนเพื่อยกระดับสู่ Industry 4.0 นอกจากนี้ยังมีโปรแกรม ITAP ของ สวทช. สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีตามโจทย์ของผู้ประกอบการ พร้อมช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ 50% และคำปรึกษาเชิงลึกเพื่อผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว

นายพรยศกล่าวว่า ธนาคารกรุงไทย เสนอสินเชื่อปลอดดอกเบี้ย 3 ปี วงเงินสูงสุด 30 ล้านบาท สำหรับปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิต และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับของเสีย สินเชื่อส่วนเกินไม่มีเพดาน ดอกเบี้ยคงที่ 3% ตลอดอายุโครงการ ด้าน SME D Bank ให้กู้ผ่านโครงการสินเชื่อ “SME Green Productivity” สำหรับผู้ประกอบการที่มีคนงานไม่เกิน 200 คน หรือทุนไม่เกิน 200 ล้านบาท วงเงินกู้สูงสุด 10 ล้านบาท ดอกเบี้ยคงที่ 3% นาน 3 ปี และมีระยะเวลาโครงการสูงสุด 10 ปี

EXIM Bank เสนอสินเชื่อดอกเบี้ยเริ่มต้น 3.5% สำหรับ 2 ปีแรก วงเงินสูงสุด 100 ล้านบาท แก่ SME ที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวและอยู่ในห่วงโซ่อุตสาหกรรมส่งออก  กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ มอบโครงการสินเชื่อลดโลกร้อน (Decarbonize Loan) วงเงิน 1 – 20 ล้านบาท ไม่เกิน 7 ปี ดอกเบี้ย 3% 3 ปีแรก ปีถัดไปอัตรา MLR โครงการสินเชื่อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถธุรกิจ (เสือติดปีก) สูงสุด 15 ล้านบาท ดอกเบี้ยคงที่ 4 – 5% ไม่เกิน 10 ปี โครงการสินเชื่อเสริมสภาพคล่องธรุกิจ (คงกระพัน) สูงสุด 5 ล้านบาท ดอกเบี้ยคงที่ 5 – 7% ไม่เกิน 3 ปี

ทั้งนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมยังได้กำหนดตารางการจัดอบรมอีก 9 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อสร้างความเข้าใจและส่งเสริมการขับเคลื่อนสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวอย่างครอบคลุมในทุกภูมิภาค ผู้ที่สนใจสามารถตรวจสอบตารางกิจกรรมและและลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมได้ที่ https://www.facebook.com/share/1ANBCtioen/?mibextid=wwX