วธ. เผย “มหกรรมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่สากล” สุดปัง วันแรก เจรจา 70 คู่ธุรกิจ ตั้งเป้า 200 คู่

147

กรุงเทพฯ วันที่ 19 เม.ย. นายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ตามที่ วธ.ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สมาคมการค้าส่งเสริมหัตถกรรมไทย ภาคเอกชนและภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนนโยบาย 1 ครอบครัว 1 Soft Power ผ่าน 11 กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาศักยภาพคนไทยให้เป็นแรงงานทักษะสูง เกิดการจ้างงานด้านศิลปวัฒนธรรม และการสร้างรายได้ในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และส่งเสริม Soft Power ของประเทศ เพื่อขยายโอกาสทางการตลาด รวมถึงส่งเสริมการเจรจาธุรกิจและแลกเปลี่ยนความร่วมมือทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยจัดงานมหกรรมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่สากลและการเจรจาธุรกิจ” ระหว่างวันที่ 18 – 22 เมษายน 2568 ณ พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 และพาร์ค พารากอน ชั้น M ศูนย์การค้าสยามพารากอน

ได้รับรายงานว่าผลการดำเนินงานวันแรกเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2568 มีผู้ซื้อ (Buyer) จำนวน 18 ราย จาก 7 บริษัท มาเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์และมีการเจรจาธุรกิจ 70 คู่ โดยคาดการณ์ว่าผลการเจรจาในวันแรกจะสร้างมูลค่าซื้อขายในอนาคตได้จำนวนมาก ทั้งนี้การจัดงานครั้งนี้มุ่งมั่นให้เกิดคู่ค้าและเป็นเวทีเจรจาธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการกับผู้ซื้อ และจัดแสดงผลงานสร้างสรรค์จากทุนทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ท้องถิ่นภายในงานเพื่อเป็นหนึ่งช่องทางและโอกาสให้ผู้ประกอบการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจการค้า ขยายตลาดสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ

“วธ.ร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และภาคีเครือข่าย เร่งประชาสัมพันธ์และเชิญชวนให้คนไทยมาชมการแสดงผลงานสร้างสรรค์จากทุนทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ท้องถิ่นซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากชุมชน งานฝีมือ สินค้าของที่ระลึก ผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยว ดนตรี และงานสร้างสรรค์จากผู้ประกอบการไทย 200 บูท เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับชุมชน จนถึงวันที่ 22 เมษายน 2568 ณ พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 และพาร์ค พารากอน ชั้น M ศูนย์การค้าสยามพารากอน” ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าว

นอกจากนี้ ได้รับรายงานว่าการโคชชิ่งและการเจรจาธุรกิจ ระหว่างวันที่ 18 – 22 เมษายน 2568 มีผู้ซื้อ (Buyer) ตอบรับเข้าร่วมกิจกรรมเจรจาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม 4 ด้าน ได้แก่ ด้านอาหาร ศิลปะ ท่องเที่ยว และดนตรี จำนวน 26 บริษัท มีผู้แทน 53 ราย โดยกลุ่มผู้ซื้อ (Buyer) ที่ร่วมเจรจาธุรกิจ อาทิ กลุ่ม HoReCa กลุ่มอุตสาหกรรมที่ประกอบไปด้วย Hotel (ธุรกิจโรงแรม) Restaurant (ธุรกิจร้านอาหาร) Cafe and Catering (คาเฟ่และธุรกิจจัดเลี้ยง) ห้างสรรพสินค้า โมเดิร์นเทรด ผู้จัดจำหน่ายออนไลน์ บริษัทผู้แทนจำหน่าย บริษัทนำเที่ยว เป็นต้น ทราบว่าภาคเอกชนมีความสนใจต้องการซื้อผลิตภัณฑ์ชุมชนเป็นจำนวนมากเพื่อสนองความต้องการผู้บริโภคนำไปจำหน่ายในช่องทางการตลาดทั้ง offline และ online และเชื่อว่าเวทีเจรจาจับคู่ธุรกิจจะเกิดการเจรจาธุรกิจในงานได้ไม่น้อยกว่า 200 คู่ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนและขยายโอกาสทางการตลาดให้ผู้ประกอบ

ทั้งนี้ การจัดงานมหกรรมฯ ครั้งนี้ดำเนินการต่อเนื่องหลังจากได้ดำเนินการฝึกอบรม Upskill และ Reskill จากผู้เชี่ยวชาญด้าน Soft Power ใน 4 อุตสาหกรรม ได้แก่ การท่องเที่ยว ศิลปะ ดนตรีและอาหาร โดยมีกลุ่มเป้าหมายจาก 5 ภูมิภาค จำนวน 2,400 คน ได้คัดเลือกผู้ประกอบการที่มีผลงานโดดเด่น 200 ผลงาน/คน มาต่อยอดและนำทุนวัฒนธรรมมาสร้างเศรษฐกิจด้วยการพัฒนาศักยภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนสู่อุตสาหกรรมวัฒนธรรม และที่สำคัญสร้างโอกาสขยายตลาดสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมทั้งในและต่างประเทศ จึงอยากเชิญชวนคนไทยมาเที่ยวชมงานเพื่อช่วยผลักดันสินค้าทางวัฒนธรรมที่นำความคิดสร้างสรรค์มาพัมนาต่อยอดจากทุนทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนชุมชน และผู้ประกอบการให้มีพื้นที่นำเสนอสินค้าและผลิตภัณฑ์ และเป็นอีกหนึ่งช่องทางการตลาดที่จะให้มีโอกาสเกิดการเจรจาการค้าให้ผู้ประกอบการได้สร้างเครือข่ายทางธุรกิจการค้า ขยายตลาดไปยังต่างประเทศ

สำหรับผลงานสร้างสรรค์และผลิตภัณฑ์จากทุนทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ท้องถิ่น ที่น่าสนใจ อาทิ หมวดอาหาร เช่น “น้ำผึ้งชันโรง ตราบ้านเกาะแลหนัง”จ.สงขลา “สมใจศิลปะกินได้” จ.จันทบุรี เป็นคุกกี้โฮมเมดมีวาดภาพด้วยมือ หมวดศิลปะ อาทิ “แบรนด์ปลากัดสัตว์น้ำประจำชาติไทย” จ.สมุทรปราการ “ม่อฮ่อมแพร่” จ.แพร่ “ศิลป์สร้างสรรค์ (โรงเรียนเมืองกระบี่) ผลิตภัณฑ์จากลูกปัดด้วยลวดลายชุดโนรา “นพดลแกลอลี่” จ.เชียงใหม่ สเก็ตบอร์ดลายไทยล้านนา หมวดท่องเที่ยว อาทิ “อิสิปันน์ นนทบุรี” จ.นนทบุรี ลูกประคบเซรามิก “เมธัส อินเตอร์เนชั่นแนล” จ.นครราชสีมา อาบเอ็นไซม์รำข้าว บ่อที่ใหญ่ที่สุดในโลก หมวดดนตรี อาทิ “เสน่ห์น่ายลมนต์เมืองยะลา” โรงเรียนบ้านตลาดลำใหม่ จังหวัดยะลา นำท่ารำพื้นฐานของมโนราห์ผสมผสานกับท่าเต้นรองเง็ง