วันที่ 15 เม.ย.68 นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม กล่าวถึง ความคืบหน้าในการช่วยเหยื่อค้ามนุษย์จากแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ในเมียนมา ซึ่งครบ 2 เดือนในการช่วยเหลือชาวต่างชาติเหยื่อการค้ามนุษย์ จากแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ในเมียวดี แต่ยังมีชาวต่างชาติติดค้างไม่ได้กลับบ้านอีก 2,002 คน โดยตั้งคำถามว่า ทำไมกระบวนการส่งกลับชาวต่างชาติ ที่ไม่ใช่ชาวจีน จึงล่าช้า จนเกิดเหตุประท้วงของชาวต่างชาติ 275 คน ซึ่งมีทั้งชาวเอธิโอเปีย ไนจีเรีย รวันดา กานา เชียร่าลีโอน มาลาวี แคมเมอรูน บุรุนดี ซิมบับเว และ อินเดีย ที่อยู่ในการดูแลของกองกำลัง DKBA ในบ้านช่องแคบ เมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา ตรงข้ามบ้านช่องแคบ อ.พบพระ จ.ตาก คนเหล่านี้ได้รับการช่วยเหลือจากแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ มาอยู่ในที่พักของ DKBA กว่า 2 เดือนแล้ว แต่ไม่มีความคืบหน้าว่าจะได้กลับเมื่อไหร่ เพราะกลไกที่รับต่อของรัฐไทยไม่สามารถปรับใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ความเป็นจริง ที่ต้องใช้กลไกทำงานร่วมกับรัฐบาลเมียนมาที่ไม่มีอำนาจเต็มในพื้นที่เมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยงได้
นายกัณวีร์ ตั้งคำถามถึงการจัดการในการส่งชาวต่างชาติที่ล่าช้า ซึ่งเมืองเมียวดี ที่ต้องมาจัดการผ่านกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) ถือว่ายากมากพอแล้ว ในขณะที่กองทัพกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย (DKBA) ที่เป็นอีกกองกำลังหนึ่งและไม่มีตัวแทนของรัฐบาลเมียนมาอยู่เลย และมีพื้นที่ห่างจากตัวเมืองเมียวดีพอควร จึงทำให้การจัดการในการส่งผู้ที่คาดว่าเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์นั้นทำได้ยากมากยิ่งขึ้น

“ถ้าจำกันได้ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผมได้ไปร่วมสังเกตการณ์รับชาวต่างชาติ 260 ที่ทางกองกำลัง DKBA ช่วยมาจากแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ ให้ข้ามมาไทยผ่านบ้านช่องแคบ อ.พบพระ จ.ตาก ข้ามท่าข้ามที่อยู่ในความรับผิดชอบของกองกำลัง DKBA ส่งให้กับทางการไทยโดยตรง ที่มี พ.อ.ณัฐกร เรือนติ๊บ ผู้บังคับการ ฉก.ราชมนู ทางตำรวจ สภ.พบพระ พร้อมฝ่ายปกครอง นายอำเภอพบพระ และทีมสหวิชาชีพ มารับชาวต่างชาติเข้าคัดกรองผ่านกลไกส่งต่อระดับชาติ NRM เพื่อคัดแยกเหยื่อการค้ามนุษย์ ถูกมองว่าเป็นการส่งกลับแบบเถื่อนเพราะไม่ได้ผ่านกลไกรัฐต่อรัฐ (G to G) แต่ตอนนี้ทุกคนได้กลับบ้าน และพบว่าเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์” สส.พรรคเป็นธรรมกล่าว
นายกัณวีร์ ระบุว่า เมื่อไปดูกลไกรัฐต่อรัฐที่ทำกันระหว่างรัฐบาลเมียนมา จีนและไทยนั้น ถูกมองว่าเป็น “ดีลปีศาจ” ได้แก่ การส่งชาวต่างชาติ รวม 8,951 คน จากจำนวน 33 ชาติ มากที่สุดคือจีน 5,414 คน ตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ.68 ถึง 10 เม.ย.68 โดยไม่ต้องเข้ากลไกการส่งต่อระดับชาติ (NRM) การส่งกลับคนจีนผ่านทางสนามบินแม่สอดโดยที่ไทยไม่ได้สอบคัดแยกเหยื่อ หรือคัดแยกว่าใครเป็นผู้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์และอาชญากรรมคอลเซ็นเตอร์เลย สำหรับชาวต่างชาติทั้ง 33 ชาติ มีบางชาติเข้า NRM อย่างย่อ เพราะต้องนั่งรถมาขึ้นเครื่องที่สนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ขณะที่ทางการไทยปล่อยให้ข้อมูลการสืบสวนสอบสวน และปราบปรามอาชญากรรมคอลเซ็นเตอร์ จากคนเกือบ 10,000 คน หลุดมือไปแล้ว ส่วนคนที่เหลือ 2,002 คน ก็ปล่อยพวกเขาไว้แบบทิ้งขวาง ไร้มนุษยธรรม

“อย่ามาเรียกว่านี่คือภารกิจมนุษยธรรมเพราะการปล่อยให้เหยื่อค้ามนุษย์ตกอยู่ในอันตรายแม้จะอ้างว่าการกระทำผิดไม่เกิดในไทย แต่ไทยซึ่งเป็นประเทศทางผ่านและถ้าสอบสวนขยายผลขบวนการนำพานั้น อาชญากรข้ามชาตินี้ได้กระทำความผิดในประเทศไทยคือการนำพาและหลอกลวงคนผ่านประเทศไทย ซึ่งย่อมมีคนไทยเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน แต่รัฐบาลไทยและตำรวจไทยไม่ทำ เพราะอะไรต้องการปกปิดผลประโยชน์ของใครกันแน่“
นายกัณวีร์ ตั้งคำถามว่า หรือนี่จะเป็นผลของดีลปีศาจแลกประเทศระหว่าง 3 ชาติ ประเทศไทยจะต้องตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนว่าเป็นการร่วมกันปกปิดการกระทำผิดของใคร หรือกลุ่มใดในประเทศไทย ทั้งส่วนกลางและท้องที่ใช่หรือไม่ เป็น 2 เดือนแห่งการทำงานแบบลูบหน้าปะจมูก ทำเพื่อให้คนจำนวนมาก ๆ หายไปโดยเร็ว โดยเฉพาะคนจีน เลยทำให้เห็นว่าไม่มีการเตรียมความพร้อมในการทำงานให้ครบวงจรและครอบคลุมอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการตัดตอนข้อมูลขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติที่ถูกส่งคนจีนกลับจีนโดยทันที และที่ทิ้งคนสัญชาติอื่นๆ นอกจากจีนให้เผชิญกับความงุนงงของระบบของไทย