“ หลังตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ถล่มฝังคนงานก่อสร้างเกือบร้อยชีวิต เนื่องจากธรณีพิโรธ สังคมเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งสอบสวนในทุกมิติว่าสาเหตุมาจากอะไร ทำไมมีเพียงตึกสตง.หลังเดียวที่ถล่ม ขณะที่ตึกหรืออาคารสูงทั่วกรุงรวมถึงอาคารสูงที่ถูกทิ้งร้างกว่า 30 ปี แทบจะไม่รับความเสียหายเลย“

ปรากฏว่ามีความเคลื่อนไหวจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สั่งให้ตรวจสอบคุณภาพเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้าง ตรวจสอบโรงงานผลิตเหล็กว่าได้มาตรฐานหรือไม่ ?
ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)ลุยสอบบริษัทรับเหมาก่อสร้างจากประเทศจีนว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายข้อไหนบ้าง รวมถึงปมหุ้นส่วนคนไทยที่ถูกคนจีนจ้างให้เป็นนอมีนี ทางตำรวจสอบสวนคดีอาญาเกี่ยวกับการเสียชีวิตของคนงานที่ถูกฝังอยู่ใต้ซากตึก
ขณะเดียวกัน สตง.โดนสังคมตั้งคำถามแบบคาใจมากมายว่าขั้นตอนการประมูลงานถูกต้องหรือไม่ มีการฮั้วประมูลและจ่ายสินบนกันหรือไม่ ? ทาง สตง.แถลงยืนยันว่าทุกขั้นตอนถูกต้องตามกฎหมาย และบริษัทที่ได้งานมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ แต่ไม่ทราบว่าบริษัทจากจีนรับเหมาช่วง จะทราบหรือไม่วิญญูชนพึงประเมินเอง และเอาผิดยากเพราะล้วนแต่อยู่ในกรอบของกฎหมาย
อีกประเด็นหนึ่งเท่าที่ติดตามข่าวยังไม่พบว่าจะสอบสวนเอาผิดกับผู้ควบคุมงานและบริษัทที่ปรึกษาโครงการหรือคอนเซาท์ เพราะมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบสเปกของวัสดุ และการก่อสร้างที่ได้มาตรฐานทุกด้าน
จากประเด็นดังกล่าว”จอมมารน้อย”ขอแชร์ประสบการณ์ช่วงวัยละอ่อนก่อนเข้าสู่แวดวงสื่อมวลชน มีโอกาสทำงานรับจ้างบริษัทก่อสร้างของญาติ รับเหมาสร้างโรงงานอุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ จากที่ได้สัมผัสจำได้ว่า เจ้าของโรงงานเมื่อว่าจ้างบริษัทรับเหมาแล้ว จะจ้างบริษัทที่ปรึกษาหรือเรียกติดปากว่าคอนเซ้า เพื่อตรวจสอบและให้คำปรึกษาทั้งเจ้าของโครงการและบริษัทรับเหมา
เมื่อเริ่มโครงการวิศวกรของบริษัทที่ปรึกษาเข้าประจำการ ก่อนที่จะลงฐานรากตอกเสาเข็มบริษัทที่ปรึกษาจะตรวจสอบสเปกว่าตรงตามแบบหรือไม่ ตอกเสาเข็มเสร็จจะตรวจสอบว่าครบตามจำนวนหรือไม่
พอถึงเวลา ยกเสา ยกคาน เทพื้น ก่อนที่จะเทปูน ตรวจสอบว่าเหล็กเส้นใช้ทำเสา เหล็กวางบนพื้นมีการผูกยึดถูกต้องหรือไม่ จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนเทพื้นด้วยปูนซีเมนต์ ก่อนเทจะเทใส่แบบคล้ายเสาเล็กๆอย่างน้อย 2-3 แบบ คนงานก่อสร้างจะเรียกว่าลูกปูน เพื่อนำไปทดสอบว่าปูนซีเมนต์ที่ใช้คุณภาพตามที่กำหนดหรือไม้ ถ้าผลออกมาไม่ตรงจะสั่งให้แก้ไขด้วยทุบทิ้งเทใหม่ ซึ่งงานภาคเอกชนจะเข้มงวดมาก จึงไม่แปลกที่แผ่นไหวล่าสุดไม่ทำให้ตึกสูงของเอกชนสั่นคลอนแต่อย่างใด
ขณะเดียวกันมีความเห็นจาก นายดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกชื่อดังชี้ช่องให้ตรวจสอบ ขออนุญาตนำเสนอบางช่วงว่า ปัญหาวิบัติในเชิงโครงสร้าง ความรับผิดชอบแรกต้องพุ่งไปที่ผู้ควบคุมงาน กฎหมายกำหนดให้ก่อสร้างอาคารทุกแห่งต้องมีผู้ควบคุมงานที่มีใบประกอบวิชาชีพเพื่อควบคุมการก่อสร้างให้เป็นไปตามแบบ
“เพื่อนฝูงที่เป็นสถาปนิกที่รับงานราชการจะรู้กันดีจุดอ่อนการคอรัปชั่นอยู่จุดนี้ เริ่มต้นจากผู้บริหารของหน่วยงานเรียกรับผลประโยชน์จากผู้รับเหมาที่จะได้งาน สมัยรัฐบาลคสช.เงินทอนเบ่งบานที่สุด บางโครงการย่ามใจมากเรียกกัน 10 เปอร์เซ็นต์ บางโครงการสูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ผู้รับเหมาอยากได้งานจำเป็นต้องรับทั้งๆที่รู้ว่าสร้างไม่จบแน่ ต้องจบที่การทิ้งงาน ผู้รับเหมาจะถูกแบล็คลิสต์”นายดวงฤทธิ์บอกว่าบริษัทที่ไม่อยากติดแบล็คลิสต์พยายามสร้างให้จบ โดยลดต้นทุนให้มากที่สุด การลดต้นทุน ผู้ควบคุมงานจะเป็นคนเซ็นอนุมัติหรือไม่เซ็นให้ ผู้ควบคุมงานจึงเป็นปัจจัยสำคัญมาก เจ้าของโครงการที่เป็นหน่วยงานราชการรู้ความจริงข้อนี้ดี จึงต้องเลือกจ้างผู้ควบคุมงานที่กำกับดูแลได้ สมยอมกับผู้รับเหมาก่อสร้าง
“การก่อสร้างผิดแบบ เป็นความรับผิดชอบของผู้ควบคุมโครงการโดยตรง ความผิดถัดมาคือผู้รับเหมา จะวิเคราะห์เรื่องการออกแบบ specification ของเหล็กเส้น คนในวงการก่อสร้างออกจะขำ เพราะเป็นการเบี่ยงประเด็นไปจากต้นเหตุคือการคอรัปชั่นอย่างไม่ต้องสงสัย…”นายดวงฤทธิ์ระบุ
จากข้อมูลที่นำเสนอพออนุมานได้ว่าผู้ควบคุมโครงการโดยตรง มีส่วนสำคัญที่ทำให้ตึกสตง.ถล่ม มีทั้งภาครัฐและบริษัทเอกชน เกี่ยวข้อง เพราะทุกขั้นตอนที่ดำเนินการไม่ว่าจะเป็นฐานราก คาน เสา พื้น เหล็ก และคอนกรีต จะต้องให้ผู้ควบคุมเซ็นต์อนุมัติทั้งสิ้น โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่สตง.ที่ปรากฏเป็นข่าวพบว่าเข้าร่วมตรวจสอบและควบคุมงานด้วยตลอดเวลา
ในความเป็นจริงกลุ่มบุคคลเหล่านี้จะต้องถูกสอบสวนเอาผิดเป็นอันดับแรก และสามารถทำได้รวดเร็วเพราะหลักฐานในที่เกิดเหตุชัดเจ แต่ดูเหมือนการตรวจสอบยังเลี่ยงที่จะไปตรวจสอบประเด็นที่ต้องใช้เวลานานก่อน ทั้งที่ควรจะจัดหนักกับผู้ควบคุมก่อน และจะสาวถึงไอ้โม่งที่อยู่เบื้องหลังการงาบไม่อยากเย็นนัก แถมจะช่วยตรวจสอบข่าวลือใต้โต๊ะ 100 ล้าน ให้สังคมหายคาใจเพื่อกู้ภาพลักษณ์ของ สตง.ที่ติดลบได้อีกด้วย !!!
