กรุงเทพฯ วันที่ 11 เม.ย. นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า จากนโยบายการส่งเสริมซอฟท์พาวเวอร์ของรัฐบาลในด้านต่าง ๆ วธ.ได้พิจารณาคัดเลือก 3 เทศกาลประเพณี ได้แก่ เทศกาลเมืองครามสกลนคร “Kram & Craft โลก” จังหวัดสกลนคร เทศกาลหนังใหญ่วัดขนอน และมหกรรมหนังเงานานาชาติ จังหวัดราชบุรี และเทศกาลภูเก็ตเมืองสร้างสรรค์ “Kebaya Festival” จังหวัดภูเก็ต เพื่อยกระดับให้เป็นซอฟท์พาวเวอร์ ด้านเฟสติวัล เทศกาลประเพณีและด้านท่องเที่ยว โดยทั้ง 3 เทศกาลจะทำไทยเป็นหมุดหมายด้านการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของนักท่องเที่ยวทั่วโลก และกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวสามารถวางแผนการเดินทางท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี

รมว.วธ. กล่าวว่า สำหรับเทศกาลหนังใหญ่วัดขนอนฯ กระทรวงร่วมกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จังหวัดราชบุรี อำเภอโพธาราม วัดขนอน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานราชบุรี องค์การบริหารส่วนตำบลสร้อยฟ้า เครือข่ายศิลปินและเครือข่ายวัฒนธรรม จัดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ทุกปี โดยปีนี้เป็นครั้งที่ 18 ภายใต้ธีม “มรดกศิลป์แผ่นดินไทย…มรดกหนังใหญ่…ก้าวสู่มรดกโลก” ระหว่างวันที่ 13 – 15 เมษายน 2568 ณ วัดขนอน ตำบลสร้อยฟ้า อำเภอโพธาราม จังหวัดรบุรี เพื่ออนุรักษ์ สืบสานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติ สร้างภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ส่งเสริมอัตลักษณ์ความเป็นไทยไปสู่ระดับชาติและนานาชาติ ขับเคลื่อนซอฟท์พาวเวอร์ และอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ด้านศิลปะ รวมถึงส่งเสริมเศรษฐกิจด้วยทุนทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน

“กิจกรรมภายในงาน อาทิ แสดงหนังใหญ่ไฟกะลาแบบโบราณ 3 คณะ และหนังใหญ่ติดตัวโขน ตอน “ยกรบ-ถวายลิง – ชูกล่องดวงใจ” การแสดงหนังเงาจากประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย และสปป.ลาว การแสดงศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย อาทิ แสดงโขนหุ่นละครเล็ก หุ่นคน ลิเกฮูลู หนังตะลุงมโนราห์ นอกจากนี้มีนิทรรศการองค์ความรู้ฯ การเสวนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ “หนังใหญ่” กิจกรรมลานวัฒนธรรมสร้างสรรค์ การสาธิตอาหารพื้นถิ่นและการสาธิตงานช่างสิบหมู่ ตลาดชุมชนโบราณ “ตลาดด่านขนอน” และจำหน่ายอาหารพื้นถิ่น ผลิตภัณฑ์ชุมชน ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมจากจังหวัดราชบุรี และกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง เป็นต้น” นางสาวสุดาวรรณ กล่าว

ทั้งนี้ การยกระดับเทศกาลหนังใหญ่วัดขนอนฯ จะช่วยสนับสนุนการขอขึ้นทะเบียน “หนังใหญ่” ของรัฐบาลต่อยูเนสโกในบัญชีการปกป้องคุ้มครองอันเป็นตัวอย่างที่ดีของโลกระดับ The Good Practices ในปี 2569 โดย “หนังใหญ่” เป็นศิลปะการแสดงชั้นสูง หาชมยาก เป็นการรวบรวมศิลปะอันทรงคุณค่าหลากหลายแขนง ทั้ง หัตถศิลป์ นาฏศิลป์ คีตศิลป์ วาทศิลป์และวรรณศิลป์ ซึ่งผู้ริเริ่มแกะสลักตัวหนัง “หนังใหญ่วัดขนอน” คือ พระครูศรัทธาสุนทร (หลวงปู่กล่อม) ตัวหนังชุดแรกที่สร้างคือ ชุดหนุมานถวายแหวน และในปี 2532 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้อนุรักษ์หนังใหญ่ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร จัดทำตัวหนังขึ้นใหม่ จำนวน 313 ตัว เพื่อใช้แสดง ส่วนตัวหนังใหญ่ชุดเดิมทั้งหมดนำไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ วัดขนอน เพื่อสืบสานงานหัตถศิลป์ที่ทรงคุณค่าให้ชนรุ่นหลังศึกษา นอกจากนี้ปี 2550 ชุมชนหนังใหญ่วัดขนอน เป็น 1 ใน 6 ชุมชนดีเด่นของโลกที่มีผลงานในการอนุรักษ์ฟื้นฟูมรดกวัฒนธรรมเชิงนามธรรม (The safeguarding of Intangible Cultural Heritage : ICH) จาก UNESCO อีกด้วย