“สมศักดิ์” ปาฐกถาการพัฒนาระบบยาประเทศไทย สู่ Medical and Wellness Hub ที่สร้างมูลค่ากว่า 6.9 แสนล้านบาท

108

“สมศักดิ์” ปาฐกถาการพัฒนาระบบยาประเทศไทย ชี้ จะช่วยสร้างความมั่นคงและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ตามนโยบายเศรษฐกิจสุขภาพ สู่ Medical and Wellness Hub ที่สร้างมูลค่ากว่า 6.9 แสนล้านบาท พร้อมมุ่งสู่ศูนย์กลางด้านการแพทย์ มูลค่าถึง 4.19 แสนล้านบาท คาดว่าปี 2573 จะเติบโตถึง 1.25 ล้านล้านบาท

วันที่ 3 เมษายน 2568 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “การพัฒนาระบบยาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ” ในการประชุมวิชาการ ก้าวสู่ทศวรรษที่ 5 ระบบยาประเทศไทย โดยมี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยา ผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วม ที่โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น จังหวัดนนทบุรี

โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า ระบบยา เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของระบบสุขภาพของประเทศ และยังเป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจชาติ การพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวไกลอย่างยั่งยืน แต่ทั้งนี้ ยังจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยในอนาคต ที่สามารถส่งผลต่อการสร้างระบบยาที่ยั่งยืนของสังคมไทย เช่น 1.การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเป็นสังคมผู้สูงอายุ จะส่งผลต่อการบริหารจัดการโรคเรื้อรังและโรคอื่นๆที่เพิ่มขึ้น และความต้องการการดูแลสุขภาพ ที่ซับซ้อนและใช้ทรัพยากรมากขึ้น

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า 2.การเกิดขึ้นเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมล้ำสมัย จะช่วยให้เราพัฒนายา และการรักษาที่เหมาะสมได้อย่างรวดเร็ว และเฉพาะบุคคลมากขึ้น เช่น การใช้stem cells ทางการแพทย์ หรือการรักษามะเร็ง ด้วยการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ต่อสู้กับเซลล์มะเร็ง รวมถึงการเกิดขึ้นของปัญญาประดิษฐ์ ที่จะช่วยวินิจฉัยโรค และคาดการณ์ความเสี่ยงสุขภาพล่วงหน้าได้ ด้วยข้อมูลเชิงลึก 3.ความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อรับมือกับภัยคุกคามด้านสุขภาพระดับโลก และการปรับตัวต่อการบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ รวมทั้งการลงทุนนวัตกรรมและเทคโนโลยีสุขภาพใหม่ๆร่วมกัน 4.สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงผันผวน ส่งผลต่อการเพิ่มโรคติดต่อ และภัยคุกคามต่อระบบสาธารณสุข เช่น ภาวะภัยแล้ง คลื่นความร้อน รวมไปถึง pm 2.5 ทำให้ประชาชนเจ็บป่วยมากยิ่งขึ้น

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า 5.การเปลี่ยนแปลงค่านิยมทางสังคม โดยประชาชนหันมาดูแลสุขภาพของตนเองมากขึ้น และต้องการบริการสุขภาพ ที่สะดวก รวดเร็ว และเข้าถึงง่าย และ 6.รูปแบบของโรคที่อาจเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่อาจเพิ่มขึ้นมากในอนาคต กระทรวงสาธารณสุข จึงต้องกำหนดทิศทางในการดำเนินงาน ต่อการพัฒนาระบบยา ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ เพื่อให้ประเทศมี “ระบบยาที่มั่นคง บนพื้นฐานของการวิจัยและพัฒนายา ประชาชนเข้าถึงยาคุณภาพอย่างทั่วถึง และปลอดภัย” สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการ ด้านการพัฒนาระบบยาของประเทศไทย (พ.ศ. 2566 – 2570) 

“การพัฒนายานวัตกรรมใหม่ให้ทันต่อสถานการณ์ ยังเป็นเรื่องที่ท้าทาย เราจึงต้องเร่งสร้างองค์ความรู้ใหม่ และนำวิทยาการด้านสุขภาพมาช่วย ดูแล รักษาป้องกันและฟื้นฟู ให้ประชาชนมีสุขภาวะที่ดี และขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมยา เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต สอดคล้องกับเป้าหมายการเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจสุขภาพ สู่ Medical and Wellness Hub ที่สามารถสร้างมูลค่ากว่า 6.9 แสนล้านบาท ผ่านนโยบายสำคัญ เช่น นโยบายการยกระดับสมุนไพรไทย ยาไทย และศูนย์กลางด้านการแพทย์ และสุขภาพมูลค่าสูง ภายใต้แนวคิด “เจ็บป่วยคราใด คิดถึงยาไทย ก่อนไปหาหมอ” โดยผลักดันการใช้ยาสมุนไพรในระบบหลักประกันสุขภาพ เพิ่มรายการยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ รวม 106 รายการ ปรับระบบบริการผู้ป่วยนอก เพื่อส่งเสริมให้แพทย์สั่งจ่ายยาสมุนไพร 32 รายการ ใน 10 กลุ่มอาการโรคที่พบบ่อย เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10% พร้อมส่งเสริมสมุนไพรไทย และอาหารไทยต่างๆ“ รมว.สาธารณสุข กล่าว

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า รวมถึงการมุ่งสู่ศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง (ATMPs) ที่มีมูลค่าถึง 4.19 แสนล้านบาท และคาดว่าปี 2573 จะเติบโตถึง 1.25 ล้านล้านบาท จะต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆอย่างครบวงจร ซึ่งจะยกระดับมาตรฐานสาธารณสุขไทย ให้ทัดเทียมมาตรฐานนานาชาติ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง บริการทางการแพทย์ของภูมิภาค โดยตนเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือ ร่วมใจของทุกฝ่าย ล้วนเป็นกุญแจสำคัญ ของการขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขของประเทศไทยให้เข้มแข็ง สร้างเศรษฐกิจให้มีความมั่งคั่ง ยั่งยืน ประชาชนมีสุขภาพดี และพร้อมเผชิญความท้าทายในทศวรรษหน้า