ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 2 เมษายน เวลา 10.30 น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้การต้อนรับ นายเค พี ศรรมะ โอลี (Rt. Hon. Mr. K P Sharma Oli) นายกรัฐมนตรีเนปาล และภริยา ในโอกาสการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเพื่อร่วมประชุม BIMSTEC ครั้งที่ 6 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ นายกรัฐมนตรีไทยและนายกรัฐมนตรีเนปาลได้ร่วมตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ จากนั้น น.ส.แพทองธารได้แนะนำคณะรัฐมนตรีแก่ผู้นำเนปาล และเชิญให้ลงนามในสมุดเยี่ยม และชมของที่ระลึกที่ทั้งสองฝ่ายมอบให้แก่กัน ก่อนเข้าร่วมหารือทวิภาคี ณ ห้องสีงาช้าง
โดยนายกฯ กล่าวว่า ถือเป็นการเยือนครั้งประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีเนปาล นับตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อกว่า 6 ทศวรรษที่ผ่านมา ทั้ง 2 ประเทศมีสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น โดยเฉพาะด้านจิตวิญญาณและวัฒนธรรม ซึ่งมีชาวไทยหลายพันคนเดินทางไปยังลุมพินี สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าเป็นประจำทุกปี พร้อมชื่นชมความสำเร็จของรัฐบาลเนปาลในการเลื่อนสถานะไปสู่ประเทศกำลังพัฒนาภายในปี 2026 และขอให้เนปาลสามารถเปลี่ยนผ่านได้อย่างราบรื่น พร้อมชื่นชมศักยภาพทางเศรษฐกิจของเนปาล รวมถึงความสำเร็จด้านการพัฒนาที่น่าประทับใจ โดยเฉพาะด้านพลังงานน้ำ ซึ่งในวันนี้ทั้งสองฝ่ายจะลงนามในข้อตกลงและบันทึกความเข้าใจ (MoUs) จำนวน 8 ฉบับ ซึ่งถือเป็นสัญญาณบวกต่อความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นในอนาคต
ด้านนายเค พี ขอบคุณนายกฯไทย พร้อมกล่าวแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันพร้อมจะสานต่อความร่วมมือกับไทยในทุกด้าน ตั้งแต่ระดับทวิภาคีไปจนถึงระดับภูมิภาค และขอบคุณรัฐบาลไทยสำหรับความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างสองประเทศ โดยเนปาลพร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับไทยในด้านที่มีศักยภาพร่วมกัน โดยเฉพาะด้านทรัพยากรมนุษย์และเทคโนโลยีต่าง ๆ พร้อมชื่นชมความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรีไทยในการพัฒนาความร่วมมือระดับภูมิภาค ทั้งนี้ เนปาลให้ความสำคัญกับการประชุม BIMSTEC และพร้อมทำงานร่วมกับประเทศสมาชิกเพื่อบรรลุเป้าหมายแห่งความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน และขอเรียนเชิญนายกรัฐมนตรีเยือนเนปาลอย่างเป็นทางการในเวลาที่เหมาะสม

จากนั้นผู้นำทั้ง 2 ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามและการแลกเปลี่ยนความตกลงร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน จำนวน 8 ฉบับ ได้แก่ 1.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวไทย – เนปาล 2.ความตกลงทางวัฒนธรรม ไทย – เนปาล 3.บันทึกความเข้าใจระหว่างสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าเนปาล (Nepal Chamber of Commerce) 4.บันทึกความเข้าใจระหว่างคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กับสถาบัน Nepal Netra Jyoti Sangh (NNJS) 5.บันทึกความเข้าใจระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กับบริษัท Jantra Agro and Forestry 6.บันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยสยามกับมหาวิทยาลัยกาฐมาณฑุ 7.บันทึกความเข้าใจระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกับสหพันธ์หอการค้าและ อุตสาหกรรมแห่งเนปาล (Federation of Nepalese Chambers of Commerce & Industry: FNCCI) และ 8.บันทึกความเข้าใจระหว่างสภาอุตสาหกรรมและสภาอุตสาหกรรมแห่งเนปาล (Confederation of Nepali Industries: CNI)
โดย น.ส.แพทองธารได้แถลงข่าวหลังพิธีลงนาม ว่า ทั้งสองฝ่ายได้หารือในด้านพลังงาน โดยไทยชื่นชมเนปาลในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่อุดมสมบูรณ์ และการพัฒนาโครงการพลังงานน้ำ และพร้อมจะส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงเสริมสร้างความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ ลดอุปสรรคทางการค้า และพัฒนาข้อได้เปรียบทางเศรษฐกิจ เพื่อผลักดันมูลค่าการค้าระหว่างกันให้เพิ่มขึ้นจาก 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน และไทยสนับสนุนให้ภาคเอกชนขยายการลงทุนในตลาดเนปาลมากขึ้น

ด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม ไทยและเนปาลเห็นพ้องส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน การแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรม และสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงศาสนาและการแพทย์ นอกจากนี้ ภาคเอกชนไทย โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม โรงพยาบาล และสายการบิน ต่างมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเนปาล และ สนับสนุนการขยายเส้นทางการบินเชื่อมต่อกรุงเทพฯ – กาฐมาณฑุ พร้อมทั้งหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้เปิดเที่ยวบินตรงสู่ลุมพินี
น.ส.แพทองธาร ยังขอบคุณเนปาลที่สนับสนุนไทยในฐานะประธาน BIMSTEC และยืนยันความมุ่งมั่นในการทำงาน และผลักดัน BIMSTEC ให้เป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาค โดยไทยมีความตั้งใจที่จะเสริมสร้างความร่วมมือกับเนปาลทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี การมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งนี้สะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและความตั้งใจของไทย-เนปาล ในการเดินหน้าความร่วมมือในทุกมิติ เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันในระยะยาว