ที่ลำพูน วันที่ 28 มี.ค. นายราเชน ศิลปะรายะ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร พร้อมคณะสื่อมวลชนเดินทางไปยังแปลงเรียนรู้ตามระบบส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ไม้ผล (ลำไย) เครือข่ายแปลงใหญ่จังหวัดลำพูน โดยเยี่ยมชมการดำเนินงาน “สวนสมบูรณ์” ของคุณพสิษฐ์ สุขสวัสดิ์ ประธานแปลงใหญ่จังหวัดลำพูน ที่มีการผลิตลำไยคุณภาพ ปลอดภัยภายใต้มาตรฐาน GAP ควบคู่กับการพัฒนา เพิ่มมูลค่าลำไย พร้อมด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ตอบสนองความต้องการของตลาด ใช้เทคโนโลยีช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต พร้อมมีการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่มีประสิทธิภาพทำให้สวนสมบูรณ์ สามารถเพาะปลูกและมีผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยมีสมาชิกอาสาฝนหลวงจากลำพูนมารอต้อนรับ
โดยนายราเชนได้พูดคุยกับกลุ่มอาสาฝนหลวง ว่า กรมฝนหลวงฯ ไม่ได้ทำเฉพาะฝนเพื่อการเกษตรเท่านั้น เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดปัญหาอื่นเพิ่ม กรมฯ จึงเพิ่มภารกิจโดยเฉพาะในเรื่องการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยในส่วนของอาสาฝนหลวงก็ต้องช่วยทางภาคพื้นดินด้วยการสื่อสารกับพี่น้องชาวเกษตรว่าขออย่าเพิ่งเผาช่วงนี้ นอกจากนี้กรมงฝนหลวงยังส่งเฮลิคอปเตอร์เพื่อช่วยดับไฟป่าในจุดที่เดินเท้าเข้าไปไม่ถึง หากจุดใดพบปัญหาไฟป่าอาสาฝนหลวงสามารถแจ้งมาที่กรมได้ทันที ขณะเดียวกันทางกรมฯ ยังนำอากาศยานมาช่วยดูแลเรื่องปัญหาพายุลูกเห็บที่สร้างความเสียหายแก่ประชาชนและเกษตรกร โดยนำเครื่องบินมาประจำการที่เชียงใหม่ 5 ลำ หากพบว่ามีโอกาสจะเกิดพายุลูกเห็บก็สามารถนำเครื่องขึ้นปฏิบัติการได้ทันที
“สิ่งใดที่เป็นการช่วยเหลือประชาชนไม่จำเป็นต้องทำฝนอย่างเดียวหากมีความเดือดร้อนไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมหรืออย่างอื่น เพราะ หน่วยงานนี้ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน เราจึงมีภารกิจเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนของพระเจ้าอยู่หัว” นายราเชน กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงภารกิจในการลดฝุ่น อธิบดีกรมฝนหลวงฯ กล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาสังคมเริ่มตระหนักถึงภัยอันตรายของฝุ่น PM 2.5 โดยเฉพาะต่อสุขภาพของบุตรหลาน เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2567 นายกรัฐมนตรีเดินทางมาประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้หยิบยกปัญหาฝุ่นควันที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนขึ้นมาหารือ พอถึงวันที่ 2 ธันวาคมทางกรมฝนหลวงฯ ก็เริ่มเที่ยวบินเพื่อลดปัญหาฝุ่นเที่ยวแรก จนกระทั่งถึงวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมามีชั่วโมงบินทั้งหมด 3,900 กว่าชั่วโมงสองพันกว่าเที่ยว ถือว่ากรมฝนหลวงออกบิลมากที่สุดเมื่อเทียบกับส่วนราชการอื่นที่มีอากาศยาน
“หลายปีที่ผ่านมาเราไม่เคยได้รับอนุญาตให้เข้าบินในกรุงเทพฯและปริมณฑลระยะ 60 ไมล์ แต่ปีที่แล้วผู้บริหารประเทศเชิญกรมฝนหลวงและวิทยุการบินกรมท่าอากาศยานไปหารือและอนุญาตให้บินเข้ามาในกรุงเทพฯได้ ใกล้สุดถึงสีลม แต่เมื่อเดือนที่แล้ว กพ.) ได้รับความเมตตาอย่างสูงจากสำนักพระราชวังอนุญาตให้บินเข้ามากรุงเทพฯชั้นในได้โดยประสานกับวิทยุการบินแต่ต้องแจ้งล่วงหน้า 1 วันและให้บินที่ความสูงไม่ต่ำกว่า 1,500 เมตร ซึ่งกรมฝนหลวงจะทำให้ดีที่สุดเพื่อชาวกรุงเทพฯกว่า 7 ล้านคนและคนไทยทุกคนได้รับอากาศที่สะอาด” นายราเชนกล่าว
ทั้งนี้ กรมฝนหลวงฯ เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการของประเทศ มีบทบาทหน้าที่ และความรับผิดชอบหลักในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำในชั้นบรรยากาศ เพื่อให้เกิดฝนในปริมาณและการกระจายที่เหมาะสม และการบริหารจัดการด้านการบินในภารกิจการทำฝน การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและภารกิจด้านการเกษตร เพื่อให้การปฏิบัติการฝนหลวงสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยหนึ่งในภารกิจที่สำคัญคือ ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง และเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้แก่พื้นที่เขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณต่ำกว่า 30% เพื่อรองรับการใช้น้ำสำหรับการเพาะปลูกและอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูฝนที่อาจได้รับผลกระทบจากภาวะฝนทิ้งช่วง
สำหรับจังหวัดลำพูนมีพืชเศรษฐกิจหลัก คือ ลำไย และมะม่วง จากรายงานของสำนักงานเกษตรอำเภอ ประจำปี 2567 พบว่า ลำพูนมีพื้นที่เสี่ยงแล้ง แบ่งเป็น ลำไย จำนวน 13,225 ไร่ จากพื้นที่ปลูกทั้งสิ้น 362,229 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 3.65 และมะม่วง 3,955 ไร่ จากพื้นที่ปลูกทั้งสิ้น 40,206 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 9.84 ซึ่งลำพูนเป็นพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงต้องมีการบริการจัดการน้ำและวางแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน