เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) พร้อมด้วยนายนิกร จำนง ประธานคณะที่ปรึกษาติดตามและเร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองประธานคณะที่ปรึกษาติดตามและเร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้นำข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวง พม. อพยพในขณะที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงจนกระทั่งตึกของกระทรวง พม. ทั้ง 2 ตึก ประกอบด้วยอาคาร 9 ชั้น และอาคารสูง 19 ชั้น สั่นสะเทือนอย่างรุนแรงจนกระทั่งทุกคนรู้สึกได้ โดยได้รีบอพยพทางบันไดหนีไฟลงมาข้างล่าง เพื่อมารวมตัวที่จุดรวมพลบริเวณหน้าอาคาร 9 ชั้น ก่อนที่นายอนุกูลกล่าวผ่านโทรโข่งกับบรรดาข้าราชการและเจ้าหน้าที่ พม. ว่า ขอให้ตรวจสอบบุคลากรและแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบ จะได้ยืนยันได้ว่าบุคลากรของเราปลอดภัยทุกคน และขอให้ทุกคนอย่ารีบกลับเข้าไปในตัวอาคาร โดยขอให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้เข้าไปตรวจสอบความเรียบร้อยก่อน เพราะอาจจะเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาได้ ซึ่งขณะนี้ไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยได้ ต้องรอเวลาให้เหตุการณ์สงบก่อน จึงอนุญาตให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ พม. ทยอยขึ้นไปเก็บสิ่งของสำคัญ และ อนุญาตให้เดินทางกลับบ้านทันที นอกจากนี้ขอให้บุคลากรของกระทรวง พม. ทุกคนติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์แผ่นดินไหวอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้แจ้งเตือนและดูแลบุคคลในครอบครัวของตนเองได้อย่างปลอดภัย
ขณะที่นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ซึ่งปฎิบัติภารกิจอยู่ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี ได้วิดีโอคอลเข้ามาติดตามสอบถามถึงสถานการณ์ของกระทรวง พม. จากนายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัด พม. โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พม. กล่าวว่า ขอให้ปลัด พม. เร่งตรวจสอบหน่วยงานของกระทรวง พม. ในต่างจังหวัดทุกจังหวัดว่าได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้อย่างไรบ้าง และให้สำรวจความเสียหายด้วยว่ามีมากน้อยเพียงใด ต้องใช้งบประมาณในการซ่อมแซมอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะรายงานต่อคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี รวมถึงให้อธิบดี รองอธิบดี และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบหน่วยงานภายในของแต่ละกรมทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศว่าได้รับผลกระทบอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้สำรวจความมั่นคงแข็งแรงของอาคารสถานที่ของทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวง พม. ทั่วประเทศด้วย เช่น ศูนย์ – สถาน – บ้าน – นิคม รวมถึงตึกอาคารของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) และโครงการบ้านของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.
ในขณะที่ นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัด พม. ได้กล่าวกับนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พม. ว่ารับทราบและรับปฏิบัติ ขณะเดียวกันได้เดินตรวจสอบบริเวณอาคารทั้งสองตึกของกระทรวง พม. โดยจะได้เร่งสรุปความเสียหายในเบื้องต้น รวมไปถึงจะเร่งทำรายงานความเสียหายของหน่วยงาน พม. ทั่วประเทศ ตลอดจนจัดระเบียบเส้นทางการเดินรถ และการเข้า – ออกของบุคลากร พม. ภายในบริเวณกระทรวง เพื่อไม่ให้มีอุบัติเหตุซ้ำซ้อนเกิดขึ้น นอกจากนี้ได้สั่งการให้ทุกกรมเร่งสำรวจกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบ หากได้ข้อมูลมาจะได้ทำรายงานให้ทราบโดยด่วน
ภายหลังจากรับข้อสั่งการของ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พม. นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัด พม. ได้สั่งการให้หัวหน้าส่วนราชการของหน่วยงาน พม. เร่งตรวจสอบความเสียหายอย่างเป็นทางการ จากผู้มีความรู้ทางวิศวกรรม ถึงความแข็งแรงของตึกอาคารของหน่วยงาน พม. ทั่วประเทศ รวมถึงตึกอาคารของ กคช. และ พอช. อีกทั้งขอให้เตรียมข้อมูลสำหรับ รมว.พม. จะได้พิจารณานำเสนอ ครม. กรณีมีความจำเป็นต้องปรับปรุงอาคารต่างๆ ซึ่งหากมีความเสียหาย เร่งด่วนให้รายงานทันที นอกจากนี้ ขอให้ตรวจสอบสภาพจิตใจของผู้รับบริการ และ ขอให้คำนึงถึงความสูญเสียและความเสียหายของประชาชน โดยการรับแจ้งเหตุต่างๆ ขอให้หน่วยงาน พม. ทั่วประเทศ ได้รับเรื่องไว้ก่อนทุกกรณี หากพี่น้องประชาชนต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน ขอให้แจ้งศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) กระทรวง พม. ผ่านสายด่วน พม. โทร. 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ นายนิกร กล่าวว่า ขอให้ทุกคนติดตามข้อมูลข่าวสารแผ่นดินไหว โดยขอให้ฟังจาก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นหลัก ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีแผนปฏิบัติการและหลักการดำเนินการดูแลความปลอดภัย เมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว
ในขณะที่ ศ.ดร.กนก กล่าวว่า ในสถานการณ์แผ่นดินไหวเช่นนี้ ขอให้ทุกคนมีสติ และคอยติดตามข้อมูลข่าวสารแผ่นดินไหว อีกทั้งติดต่อสื่อสารกับญาติพี่น้องให้ได้ทราบว่า เราปลอดภัย และญาติพี่น้องของเราปลอดภัย โดยขอให้ใช้โทรศัพท์ติดต่อสื่อสารเท่าที่จำเป็น เพราะขณะนี้ทุกคนในพื้นที่ กทม. ล้วนกำลังใช้โทรศัพท์ นอกจากนี้ ขอให้ทุกคนนึกถึงความปลอดภัยของตัวเองเป็นหลัก