รมว.กต. ยันประสานเพื่อนบ้าน-อาเซียน เปิดยุทธศาสตร์ฟ้าใส แก้ฝุ่น PM2.5 ตั้งแต่ ต.ค.ปีที่แล้ว

92

ที่รัฐสภา วันที่ 24 มี.ค. นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ลุกขึ้นชี้แจงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หลังนายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.เชียงใหม่ พรรคประชาชน ระบุถึงกรณีที่รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับการผลักดันความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ทั้งในภูมิภาคอาเซียน และภูมิภาคอื่นที่เป็นต้นเหตุการเกิดฝุ่น PM2.5 โดยยืนยันว่า ที่ผ่านมา รัฐบาล และกระทรวงการต่างประเทศ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม, กระทรวงกลาโหม และกระทรวงมหาดไทย ผลักดันแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อป้องกัน และแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนภายใต้ “ยุทธศาสตร์ฟ้าใส” ระหว่างไทย, สปป.ลาว และเมียนมา ตั้งแต่ตุลาคม 2567 และความร่วมมือในกรอบอาเซียน ในการแก้ไขปัญหา PM2.5 รวมทั้งผลักดันความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจาของอาเซียนทั้ง จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา และแคนาดาอย่างเข็มข้น

รมว.ต่างประเทศ ชี้แจงว่า การดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ฟ้าใสนั้น รัฐบาลได้เปิดแผนปฏิบัติการร่วมภายใต้ยุทธศาสตร์ฟ้าใสที่กรุงเทพฯ โดยมีรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้องของไทย, สปป.ลาว และเมียนมาเข้าร่วมเพื่อแก้ไขปัญหา และกำหนดแนวทางความร่วมมือระหว่างทั้ง 3 ประเทศในการแก้ไข PM2.5 ข้ามแดนอย่างยั่งยืน เช่น การจัดทำแผนที่พื้นที่เสี่ยง, การเกิดไฟป่า, การเปิดสายด่วน และการจัดตั้งกลไกเฝ้าระวังและติดตามหมอกควันข้ามแดนระหว่างทั้ง 3 ประเทศ รวมถึงยังอยู่ระหว่างการเตรียมจัดโครงการส่งเสริมความร่วมมือด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยีกับประเทศคู่เจรจาที่มีความเชี่ยวชาญในการแก้ปัญหาดังกล่าว และในเดือนเมษายนนี้ ไทยจะเป็นเจ้าภาพประชุม Joint Task Force เพื่อระดมความร่วมมือในการแก้ปัญหาด้วย

นายมาริษ ยังชี้แจงว่า รัฐบาลได้ดำเนินการผ่านกรอบการประชุมสุดยอดอาเซียนที่เวียงจันทน์ และการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการที่เกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย เมื่อต้นปีที่ผ่านมา รวมถึงยังจัดงานสัมมนาแนวทางการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนในภูมิภาคอาเซียน โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากจีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ไทย องค์การอนามัยโลก ธนาคารโลก และองค์กร ความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (GIZ) และศูนย์เตรียมความพร้อมภัยพิบัติแห่งเอเชีย (ADPC) มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาหมอกควันในประเทศต่าง ๆ พร้อมทั้งผลักดันความร่วมมือผ่านกรอบการประชุมประเทศภาคีข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ซึ่งมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานหลัก เพื่อให้มีความเป็นรูปธรรม

ส่วนการดำเนินการในกรอบของทวิภาคีนั้น รมว.ต่างประเทศ ระบุว่า กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ได้ร่วมกับประเทศพัฒนาแล้วอาทิเช่น สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ให้ความช่วยเหลือโครงการความร่วมมือไตรภาคีเพื่อเพิ่มศักยภาพเจ้าหน้าที่ สปป. ลาว เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน ระยะเวลา 3 ปี เมื่อเดือนมกราคม 2567 เพื่อฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ การกำหนดนโยบายและวางมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน และการใช้ประโยชน์ จากข้อมูลดาวเทียมนานาชาติ รวมถึงยังได้ประชุมร่วมกับกัมพูชา เมื่อ 8 มีนาคม 2567 โดยไทยได้เสนอจัดตั้งช่องทางการสื่อสาร เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ จำนวนจุดความร้อน และความร่วมมือในการดับไฟ ซึ่งล่าสุด ทั้ง 2 ฝ่ายยังเตรียมลงนามจัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงสิ่งแวดล้อม ราชอาณาจักรกัมพูชา กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทยในห้วงการเดินทางเยือนของนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ 23-24 เมษายนนี้ด้วย