“ประชาชน” เสนอ กม. “ที่พักเท่าเทียม” ช่วยปลดล๊อคที่พักขนาดเล็กกว่าแสนราย กระจายรายได้ท้องถิ่น

123

ที่รัฐสภา วันที่ 13 มีนาคม พรรคประชาชน นำโดย เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สส.กรุงเทพฯ เขต 24, ณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล สส.เชียงใหม่ เขต 3, เฉลิมพงศ์ แสงดี สส.ภูเก็ต เขต 2, ยอดชาย พึ่งพร สส.ชลบุรี เขต 9 และ ภัณฑิล น่วมเจิม สส.กรุงเทพฯ เขต 4 ร่วมแถลงข่าวการยื่นร่าง พ.ร.บ.โรงแรมและสถานที่พักค้างคืน หรือ พ.ร.บ.ที่พักเท่าเทียม ต่อสภาผู้แทนราษฎร โดย เท่าพิภพกล่าวว่า ที่พักค้างแรมหรือโรงแรมในประเทศไทย เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงมาก แต่น่าแปลกใจที่กฎหมายกลับล้าหลังและเป็นอุปสรรคต่อผู้เล่นรายย่อย เไม่แตกต่างจากสุราก้าวหน้า และในขณะที่ผู้ประกอบการสุรามีไม่ถึงพันราย แต่ผู้ประกอบการโฮสเทลหรือที่พักขนาดเล็กในประเทศไทยมีเกือบ 100,000 ราย ดังนั้นถ้าร่างกฎหมายที่พักเท่าเทียมผ่านความเห็นชอบ จะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนมาก เป็นการปลดล็อกศักยภาพทางเศรษฐกิจและสร้างความเท่าเทียมไปพร้อมกัน ป้องกันปัญหาการเรียกรับส่วยจากโรงแรมหรือโฮสเทลในปัจจุบัน

ร่างกฎหมายนี้ได้ผ่านกลไกอนุกรรมาธิการ เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงสมาคมโรงแรมมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็น ตนเชื่อว่าการแข่งขันในตลาดจะเป็นผลดีต่อผู้บริโภค เพราะถ้าไม่มีผู้ประกอบการรายย่อย ค่าโรงแรมในประเทศไทยอาจแพงกว่านี้จนคนเที่ยวไม่ไหว 

ด้าน ณัฐพล กล่าวว่า 10 ปีที่ผ่านมารูปแบบการท่องเที่ยว รูปแบบการพัก พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไป ไม่ได้พักตามโรงแรมขนาดใหญ่เหมือนในอดีต แต่กฎหมายโรงแรมฉบับปัจจุบันมีอายุ 20 ปี เนื้อหาหลายอย่างไม่ทันสมัย หลายปีที่ผ่านมาถ้าเราอยู่ในหัวเมืองท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ กรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต จะพบผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนมากที่เจอปัญหาไม่สามารถขออนุญาตได้เพราะกฎหมายไม่สอดคล้องกับรูปแบบของสถานที่พักในปัจจุบันที่มีความหลากหลายมากขึ้น ดังนั้นกฎหมายที่พักเท่าเทียมตั้งใจให้ผู้ประกอบการตัวเล็ก สถานที่พักขนาดเล็ก สามารถขออนุญาต มีตัวตนทางกฎหมายได้ง่ายขึ้น โดยจุดเด่นของกฎหมายมี 6 ข้อ

1) มีมุมมองทางธุรกิจมากขึ้น เพราะเดิมกฎหมายโรงแรมจะยึดโยงกับ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม พ.ร.บ.โบราณสถาน พ.ร.บ.ผังเมือง ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถขออนุญาตอะไรได้เลย 2) กำหนดเงื่อนไขให้น้อยลง เพราะกฎหมายเดิมกำหนดไว้เยอะมาก ซึ่งไม่สอดคล้องกับการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการขนาดเล็ก เราจะลดเงื่อนไขนี้ลง แต่ยังคงมาตรฐานความปลอดภัยเท่าที่จำเป็น 3) กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น กำหนดให้เทศบาล อบต. เมืองพัทยา กทม. เป็นผู้ออกกำหนดกฎเกณฑ์ ผู้ให้อนุญาตหรือไม่ให้อนุญาต เพราะที่ผ่านมาอำนาจนี้อยู่ที่นายอำเภอ กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นข้าราชการประจำ มีการโยกย้าย บางครั้งไม่เข้าใจบริบทในพื้นที่ จึงควรให้ท้องถิ่นที่อยู่ในพื้นที่เป็นคนดำเนินการ

4) การเสียค่าธรรมเนียมใดๆ ที่เกิดขึ้น ให้รายได้เหล่านั้นตกเป็นของท้องถิ่นเพื่อนำไปพัฒนาสาธารณูปโภคในพื้นที่ของตัวเอง 5) การปรับปรุงค่าปรับ จากเดิมกฏหมายโรงแรมกำหนดไว้ตายตัวทั้งต่อที่พักขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เราจะเปลี่ยนการปรับตามขนาดของกิจการ และ 6) ใช้กลไกการรนัอัตโนมัติ (auto-approve) เพราะที่ผ่านมาปัญหาของใบอนุญาตทุกประเภทในประเทศไทย คือเมื่อไปขอก็จะถูกประวิงเวลา ถูกเจ้าหน้าที่เรียกรับผลประโยชน์ ทำให้การให้อนุญาตล่าช้า ในกฎหมายของพรรคประชาชนจะกำหนดกลไก auto-approve ว่าเมื่อไปขออนุญาตแล้ว หากถึงเวลาตามที่กำหนด เจ้าหน้าที่ไม่ทำอะไรหรือล่าช้าเกินไป ใบอนุญาตจะได้รับการรับรองโดยอัตโนมัติ 

ณัฐพลทิ้งท้ายว่า กฎหมายที่พักเท่าเทียมเป็นหนึ่งในหมุดหมายของพรรคประชาชน เรามองว่าการท่องเที่ยวไม่ใช่แค่การจัดอีเวนต์ ไม่ใช่แค่การสร้างอุปสงค์ เพื่อดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศจำนวนมาก แต่การท่องเที่ยวจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการอุตสาหกรรมภายในประเทศด้วย การทำให้ที่พักต่างๆ เข้าสู่ระบบ จะทำให้ภาครัฐมีข้อมูลว่าที่พักในประเทศไทยมีอยู่เท่าไหร่ เมื่อเกิดภัยพิบัติสามารถให้การช่วยเหลือได้ครบถ้วนไม่ตกหล่น จึงเชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้จะเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวภายในของไทยให้ดีขึ้นในระยะยาว