กมธ.กฎหมาย เรียกหน่วยเกี่ยวข้องชี้แจง ส่งอุยกูร์กลับจีน สตม.อ้างไม่มีบันทึกวงจรปิดตามคาด!!

272

ที่รัฐสภา วันที่ 12 มี.ค. ทนายแจม ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม.พรรคประชาชน ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน เปิดเผยภายหลังการประชุมเพื่อติดตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินการส่งผู้ถูกกักตัวชาวอุยกูร์กลับจีน รวมทั้งการปฏิบัติตาม พรบ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ว่า กมธ.ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงานตำรวจแกางชาติ, สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง, กระทรวงยุติธรรม, กระทรวงการต่างประเทศ และ สภาความมั่นคงแห่งชาติ เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงในกระบวนการส่งตัวชาวอุยกูร์ที่เกิดขึ้น หลักฐานต่างๆ ที่ยืนยันถึงความสมัครใจของผู้ถูกกักตัวในการกลับประเทศต้นทาง ซึ่งตัวแทนจากหน่วยงานรัฐชี้แจงว่า ได้มีหนังสือขอตัวผู้ต้องกักชาวอุยกูร์จากรัฐบาลจีน และ การประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 17 ม.ค.ให้ส่งตัวกลับ ก่อนจะมีการดำเนินการในเช้ามืดวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา

ตัวแทนจาก สมช.ให้ข้อมูลว่า รมต.ยุติธรรม ได้ให้ความเห็นในการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติว่า ไม่ขัดต่อกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ และมีการดำเนินการตามระเบียบขั้นตอนที่ถูกต้อง ประกอบกับทางรัฐบาลจีน รับรองในความปลอดภัยและไม่ถูกดำเนินคดีในการกลับไป ซึ่งกระบวนการที่เกิดขึ้นยังเต็มไปด้วยความเคลือบแคลงสงสัยใจจากประชาชนและองค์กรระหว่างประเทศว่าได้ปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่ เพราะข้อมูลจากภาคประชาสังคมยืนยันว่า ชาวอุยกูร์ไม่ได้สมัครใจและมีการอดอาหารประท้วงถึง 19วัน รวมทั้งเหตุการณ์ในวันถูกส่งตัวยังทำในเวลาวิกาลอีกทั้งรถที่ใช้ยังติดเทปดำเพื่อปกปิดการมองเห็น

ศศินันท์ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการได้ซักถามถึงการบันทึกเหตุการณ์การส่งตัวกลับจากกล้องวงจรปิด ตามมาตรา 22 ซึ่ง สตม.แจ้งว่าไม่มีการบันทึกไว้ และไม่เข้าเงื่อนไขในมาตรา 22 นอกจากนี้ยังมีการตีความในมาตรา 13 ที่ “ห้ามมิให้หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่รัฐขับไล่ ส่งกลับบุคคลไปยังอีกรัฐหนึ่ง หากเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะตกอยู่ในอันตราย” ว่าการกระทำของรัฐบาลไทยได้ทำผิดในมาตรานี้หรือไม่ ทำให้เห็นว่ามีความเข้าใจที่ไม่ตรงกันในการบังคับใช้และตีความ พรบ.ฉบับนี้ในหลายมิติ เห็นควรให้มีการกลับมาทบทวนหลักการและเจตนารมย์ตั้งต้นของกฎหมายที่ต้องการคุ้มครองประชาชนจากการบังคับของเจ้าหน้าที่รัฐ

“แจมมีความเข้าใจในข้อจำกัดของตัวแทนจากหน่วยงานในฐานะผู้ปฏิบัติตามคำสั่งกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และขอเรียกร้องให้ผู้บริหารจากฝ่ายการเมือง ได้แก่ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง , รมต.ยุติธรรม, รมต.การต่างประเทศ ในการชี้แจงและให้ข้อมูลที่สังคมสงสัยอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา กระบวนการส่งตัวชาวอุยกูร์ครั้งนี้ทำลายความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในเรื่องสิทธิมนุษยชนและความเชื่อมั่นระหว่างเทศอย่างยิ่ง ในฐานะตัวแทนจากฝ่ายนิติบัญญัติจะติดตามกรณีนี้อย่างใกล้ชิดต่อไปค่ะ” สส.พรรคประชาชน กล่าว