ผบ.ตร.เซ็นคำสั่งไล่ออก”รองฯโจ๊ก”ผิดวินัยร้ายแรง-เปิดขั้นตอนอุทธรณ์คำสั่ง

246
พล.ต.อ.กิติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)

วันที่ 11 มีนาคม 2568 ที่ ตร.ผู้สื่อข่าวมีรายงานว่า พล.ต.อ.กิติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้ลงนามในคำสั่งไล่ออกจากราชการ  พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล อดีตรอง ผบ.ตร.แล้ว  โดยเป็นการลงนามตามมติคณะกรรมการเสนอแนะการลงโทษ ตามมาตรา 125 วรรค3 แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ พ.ศ.2565 ที่มี พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง รองผบ.ตร. เป็นประธานประชุมเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา เนื่องจากได้กระทำผิดร้ายแรงตามที่พนักงานสอบสวน สน.เตาปูน ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีผู้ร่วมกระทำความผิดเกี่ยวกับเว็บพนันออนไลน์ 22 คน และความผิดตาม พ.ร.บ.ฟอกเงิน พบเครือข่ายเจ้าของเว็บไซต์พนัน มีเส้นทางการเงินเกี่ยวพันกับข้าราชการตำรวจหลายนาย รวมถึง พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล ศาลอาญาจนมีคำสั่งออกหมายจับ พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ วันที่ 2 เม.ย.2567 และ ผบ.ตร.มีคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน พร้อมตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง

 พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล อดีตรอง ผบ.ตร.

ทั้งนี้ ตามขั้นตอน พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ ฯ ผู้ถูกกล่าวหาสามารถอุทธรณ์คำสั่งต่อ ก.พ.ค.ตร.ได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ ผบ.ตร.ลงนามคำสั่งมีผล จากนั้น ก.พ.ค.ตร.มีกำหนดระยะเวลาพิจารณา 120 วัน ขยายเวลาได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 60 วัน รวมทั้งสิ้น 240 วัน หาก ก.พ.ค.ตร.วินิจฉัยเป็นคุณกับผู้กล่าวหา อุทธรณ์ฟังขึ้น ตร.จะต้องเรียกผู้ถูกกล่าวหากลับเข้ารับราชการภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ ก.พ.ค.ตร.มีคำวินิจฉัย หาก ก.พ.ค.ตร.วินิจฉัยเป็นโทษ ยืนตามคำสั่ง ตร.ที่ให้ไล่ออกจากราชการ ผู้ถูกกล่าวหาสามารถฟ้องศาลปกครองสูงสุดภายในระยะเวลา 90 วัน นับแต่วันที่ ก.พ.ค.ตร.วินิจฉัย

โดยคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเป็นที่สุด(ระยะเวลาการพิจารณา ประมาณ 1-2 ปี) ซึ่งหากศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดการลงโทษไล่ออกของ ผบ.ตร.เป็นไปตามกฏหมายถูกต้อง ตร.จะต้องดำเนินการในเรื่องการเสนอเพื่อถอดยศ และให้คืนเครื่องราขอิสริยาภรณ์ต่อไป