ที่รัฐสภา วันที่ 6 มีนาคม นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ รับหนังสือจาก นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ พร้อมเครือข่ายสมาชิกสภาผู้บริโภค เพื่อให้ข้อเสนอแนวทางป้องกันการผูกขาดในการประมูลคลื่นความถี่ จากกรณี การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เห็นชอบให้สำนักงาน นำหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 850 MHz, 1500 MHz, 1800 MHz, 2100 MHz, 2300 MHz และ 26 GHz และรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 ก่อนเสนอต่อ กสทช. พิจารณารอบสุดท้าย ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีการประมูลแถบคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเปิดประมูลภายในไตรมาส 2 ปี 2568
โดยตัวแทนสภาผู้บริโภค ระบุว่า การประมูลครั้งนี้ครอบคลุมถึง 6 ย่านความถี่ ได้แก่ คลื่นที่กำลังหมดอายุใบอนุญาตของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT คลื่นว่างที่ไม่มีผู้ประมูลในรอบที่ผ่านมา คลื่นที่ไม่เคยถูกนำมาประมูลมาก่อน และคลื่นที่ยังไม่หมดอายุแต่ถูกนำมาประมูลล่วงหน้า ซึ่งการนำคลื่นทั้งหมดนี้มาประมูลพร้อมกัน อาจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมและสิทธิของผู้บริโภคแม้ว่าการเปิดประมูลคลื่นความถี่พร้อมกันอาจช่วยให้เกิดการบริหารจัดการคลื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่สภาผู้บริโภคตั้งข้อสังเกตว่าไม่มีหลักประกันที่ชัดเจนว่าผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะในด้านปริมาณ คุณภาพของการให้บริการ และราคาค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่

สภาผู้บริโภคมีความกังวลเรื่องความเสี่ยงในการลดการแข่งขันในตลาด เนื่องจากต้นทุนการเข้าประมูลที่สูงอาจเป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการรายใหม่ ทำให้ตลาดถูกครอบครองโดยผู้ให้บริการรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย และอีกประเด็นคือ ไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการควบคุมค่าบริการหรือกำหนดมาตรฐานคุณภาพการให้บริการ ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคต้องเผชิญกับค่าบริการที่สูงขึ้นและทางเลือกที่ลดลง สภาผู้บริโภคจึงแสดงความกังวลใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. การประมูลที่จะเกิดขึ้นไม่มีการแข่งขันที่แท้จริง เพราะเหลือผู้ให้บริการรายใหญ่เพียงสองราย คือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ ทรู กับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส เท่านั้น อันเกิดจากการที่ กสทช. ปล่อยให้มีการรรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม
ที่ผ่านมา งานวิจัยของ 101 public policy think tank พบว่า ผู้ใช้บริการทั้งสองค่ายมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5.9 หรือต้องจ่ายแพงขึ้นอย่างน้อย 100 บาท ต่อคนต่อเดือน หลังควบรวม เนื่องจากแพ็กเกจราคา 299 บาท/เดือน ที่ถูกที่สุดในปี 2022 หายไป ทำให้แพ็กเกจถูกที่สุดในปัจจุบันคือแพ็กเกจ 399 บาท/เดือน ดังนั้น การเปิดประมูลคลื่นความถี่ในคราวเดียวกันทั้งหมด 6 ย่านความถี่ในครั้งนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อปัญหาคุณภาพและราคาของผู้บริโภคที่จะต้องแบกรับในอนาคตอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

2 ไม่มีการกำหนดเพดานราคาค่าบริการสูงสุด เทียบกับปริมาณและคุณภาพของบริการที่ผู้ให้บริการสามารถเรียกเก็บจากผู้บริโภคและผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายย่อย (MVNO) ภายใต้เงื่อนไขการแข่งขันการประมูล ซึ่งอาจทำให้ไม่มีหลักประกันว่าผู้บริโภคหรือผู้ประกอบการรายเล็กจะได้รับความคุ้มครองที่เป็นธรรมจากโครงสร้างตลาดที่เปลี่ยนไป จึงขอให้ กมธ.พัฒนาเศรษฐกิจ ตรวจสอบการประมูลคลื่นความถี่ทั้ง 6 ย่าน ว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภค ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะ ตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ และให้มีมาตรการที่ชัดเจนเพื่อป้องกันการผูกขาด ส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม เพื่อให้ตลาดโทรคมนาคมยังคงเปิดกว้างและเอื้อต่อประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภค
ทั้งนี้ หวังว่า คณะกรรมาธิการจะให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าว และดำเนินการปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภคและส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมในตลาดโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภคและสาธารณะตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ

ด้านนายสิทธิพล กล่าวว่า กมธ.พัฒนาเศรษฐกิจ เห็นว่า กิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่อจนกิจการเกี่ยวเนื่องต่าง ๆ เป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขัน ภาคอุตสาหกรรมประเทศ จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการ ขอขอบคุณสภาองค์กรของผู้บริโภคที่ติดตามอย่างจริงจัง ซึ่งกมธ.ได้ติดตามการทำงานของกสทช.มาโดยตลอด โดยเฉพาะประเด็นเรื่องผลกระทบของการควบรวมอุตสาหกรรม ซึ่งเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว ได้เชิญผู้แทนกสทช. รวมถึงนักวิชาการมาเพื่อมาคุย ว่าเงื่อนไขที่เคยบอกไว้ เรื่องราคา คุณภาพ มีการดำเนินการอย่างไรบ้าง แต่ กสทช.หรือผู้แทน ไม่สามารถให้รายละเอียดได้ชัดเจน รวมถึงยังไม่สามารถทำให้กรรมาธิการ เห็นได้ว่าภาคเอกชน ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เคยกำหนดไว้
ขอยืนยันว่ากรรมาธิการไม่ได้ละเลย เพราะส่งผลกระทบต่อประชาชน ส่วนประเด็นวันนี้ มีความสำคัญ 3 มิติ มิติแรก เห็นด้วยอย่างยิ่งว่าโทรคมนาคม มีความจำเป็น และสำคัญอย่างยิ่งต่อต้นทุนค่าครองชีพของประชาชน ต้องทำให้ต้นทุนต่ำและมีคุณภาพ มิติที่สอง กสทช.ยังไม่สามารถทำให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าจะคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง ส่งผลให้เกิดความกังวลต่อการประมูลรอบถัดไป มิติสุดท้าย กรรมาธิการจะเชิญ กสทช.มาให้ข้อมูล ได้ละเอียดในการประมูล ว่าจะมี เงื่อนไขใดบ้าง และต้องรับประกันได้ว่าเกิดการแข่งขันจริง ทั้งประโยชน์ที่ภาครัฐ ภาคประชาชนจะได้รับ เมื่อมีการบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมจะเชิญผู้ยื่นเข้าร่วมชี้แจงให้ข้อมูลดังกล่าวด้วย