ที่กระทรวงยุติธรรม วันที่ 6 มี.ค. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ร่วมกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ร่วมกันแถลงข่าว ภายหลังการประชุม กคพ. เพื่อพิจารณากรณีการสมคบกันในความผิดฐานฟอกเงินของบุคคลหรือคณะบุคคลที่กระทำผิดเป็นอั้งยี่ หรือคดีฮั้วเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) นานกว่า 2 ชั่วโมง ว่า ที่ประชุมที่มีได้มีมติรับเป็นคดีพิเศษ ด้วยมติ 11 ต่อ 4 งดออกเสียง 3 จากผู้เข้าร่วมการประชุมสิ้น 18 คน โดย 3 คนที่ไม่ได้เข้าร่วมในวันนี้ เป็นตัวแทนจากฝั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
นายภูมิธรรม กล่าวว่า ที่ประชุมได้พูดคุยหลากหลายประเด็น และใช้ดุลยพินิจ รวมทั้งหลักกฎหมายอย่างครบถ้วน ซึ่งเป็นคดีที่เกี่ยวกับนิติบัญญัติของประเทศ โดย บอร์ด กคพ.ได้พิจารณาบนฐานข้อเท็จจริงกรณีที่มีผู้เสียหายมาร้องทุกข์กับดีเอสไอว่าเป็นคดีพิเศษหรือไม่ ซึ่งในวันนี้ไม่ได้พิจารณาถึงกระบวนการเลือก สว. แต่บอร์ดเห็นว่าการกระทำความผิดที่มีการร้องทุกข์ เป็นลักษณะความผิดฐานฟอกเงินที่เป็นคดีพิเศษตามกฎหมายการสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายการได้มาซึ่ง สว.ที่ระบุว่า การใช้ทรัพย์สินเพื่อจูงใจให้เลือกผู้สมัครเป็นความผิดฐานฟอกเงินด้วย ขอย้ำว่าการพิจารณาในวันนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับการไปยุ่งเกี่ยวอำนาจหน้าที่ของ กกต. เพราะ กกต.ทำงานในฐานะผู้ดูแลการเลือกตั้ง แต่กรณีเป็นการดูแลเรื่องคดีอาญา เป็นการทำงานคู่ขนานกันเพื่อบังคับใช้กฎหมาย

ประธาน กคพ. กล่าวว่า ในที่ประชุมมีองค์ประชุม 18 คน มีมติชี้ขาดกรณีการสมคบกันในความผิดฐานฟอกเงินของบุคคล หรือคณะบุคคลที่กระทำผิดเป็นอั้งยี่ที่เกี่ยวกับการได้มาซึ่ง สว. พ.ศ.2567 เป็นคดีพิเศษ ส่วนคดีอาญาใดที่ต่อเนื่องหรือเกี่ยวข้องจะเป็นคดีพิเศษเพื่อสอบสวนต่อไปที่ประชุมมีมติเห็นชอบเป็นคดีพิเศษ 11 เสียง ไม่เห็นชอบ 4 เสียงและงดออกเสียง 3 เสียง เนื่องจากมีความผิดในลักษณะอั้งยี่ และคดีอาญา ทั้งนี้จะมีการตั้งคณะทำงาน 1 ชุดมีตัวแทนจากอัยการด้วย
โดยนายภูมิธรรม กล่าวยอมรับว่า คณะกรรมการทุกคนมีความหนักใจ เพราะเป็นประเด็นที่เกี่ยวพันกับสถาบันนิติบัญญัติ จึงได้กำชับในที่ประชุมว่าจะต้องใช้ดุลยพินิจที่ละเอียดรอบคอบโดยอิงข้อกฎหมายและข้อมูลต่างๆ ตนก็ได้แจ้งที่ประชุมว่าการพิจารณาวันนี้ไม่เกี่ยวเรื่องตัวบุคคล ไม่เกี่ยวเรื่องการเมือง และทราบดีว่าแต่ละคนมีความกังวลใจหากทำอะไรที่ไม่ถูกไม่ควรก็จะมีผล
“เราเชื่อว่าเราได้ทำสิ่งที่รอบคอบที่สุดแล้ว มีการพูดคุยกันทุกฝ่าย ข้อโต้แย้ง เราได้กลับไปตามกลับมาทั้งหมด คิดว่าเราตัดสินใจไปแล้ว เรารับผิดชอบ ไม่น่ามีปัญหาอะไร เราทำถูกต้อง ตามกฎหมาย และกระบวนการทั้งหมด และวันนี้ยังเป็นกระบวนการที่รับมาเพื่อสอบสวนสืบสวน ทั้งหมดก็อยู่ที่ศาลยุติธรรมที่จะไปตัดสินขั้นตอนสุดท้ายอยู่ดี เราไม่ใช่ผู้ชี้ขาดความถูกความผิด” ประธานกคพ. กล่าว

ด้านพันตำรวจเอก ทวี กล่าวว่า การรับรองคดีฟอกเงินนี้เป็นการรับรองให้เป็นคดีพิเศษโดยอัตโนมัติ ตามท้ายพระราชบัญญัติคดีพิเศษ ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) โดยจะให้พนักงานอัยการมาร่วมสอบสวนด้วย เพื่อให้การปฏิบัติงานมีความโปร่งใส ส่วนขั้นตอนต่อไป เป็นเรื่องที่ดีเอสไอ จะไปตั้งคณะพนักงานสอบสวนด้วย แต่ในส่วนที่เป็นของ กกต. ได้มีการประสานงานกับ กกต. อยู่แล้ว หนังสือฉบับนั้นยังไม่ยกเลิก ซึ่งข้อหาการฟอกเงิน เกิดมาจากฐานข้อหาอั้งยี่ หากมีความผิดอาญาอื่นก็จะนำมาประกอบของพนักงานสอบสวน อีกทั้งการทำคดีพิเศษอยู่ตามพยานหลักฐาน และต้องให้ความเป็นธรรมของทุกฝ่าย
สำหรับการประชุมพิจารณาคดีฮั้วเลือก สว.ได้เลื่อนครั้งแรกเมื่อ 25 ก.พ.ที่ผ่านมาเนื่องจาก กคพ.ต้องการให้มีคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) มาให้ข้อมูล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ที่ลา/ขาดประชุม 3 คน ประกอบด้วย คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน คือ พล.ต.อ.สุทิน ทรัพย์พ่วง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการสอบสวนคดีอาญา และ พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และ คณะกรรมการโดยตำแหน่ง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร. ที่มอบหมาย พล.ต.ท.อภิชาติ สุริบุญญา ผู้บัญชาการกฎหมายและคดี มาแทน
ขณะที่นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ในฐานะคณะกรรมการโดยตำแหน่ง ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมการประชุม ซึ่งต่างจากครั้งก่อนที่เดินทางมาร่วมประชุมด้วยตัวเอง โดยมีข้อสังเกตว่า นายอรรษิษฐ์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นปลัดกระทรวงโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ซึ่งถูกมองว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่ม สว.สีน้ำเงิน ซึ่งออกมาคัดค้านการรับคดีของดีเอสไอในครั้งนี้ ขณะที่ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวอ้างว่านายปกรณ์ให้ความเห็นในที่ประชุม กคพ. ว่า ดีเอสไอไม่มีอำนาจรับทำคดี