รัฐสภา วันที่ 27 ก.พ. นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะ ประธานกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร และนายชยพล สท้อนดี สส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาชน ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการฯ กล่าวภายหลังที่กองทัพไม่ส่งตัวแทนให้ข้อมูลในวาระพิจารณาเรื่องการจัดระดับชั้นความลับเอกสาร สืบเนื่องจากคณะกรรมาธิการฯ เคยเรียกขอเอกสารยอดกำลังนายพล แต่กองทัพอ้างว่าเป็นเอกสารลับ ทำให้มีคำถามว่าคณะกรรมาธิการฯ สามารถเข้าถึงข้อมูลใดของกองทัพได้บ้าง โดยนายวิโรจน์ กล่าวว่า คำว่าลับ มักถูกใช้เป็นข้ออ้างมาโดยตลอด คณะกรรมาธิการฯ จึงตั้งข้อสังเกตถึงมาตรฐานในการกำหนดคำว่าลับ นำมาใช้กับบางคนหรือไม่ หรือเป็นเพียงการใช้ดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาบางคน หากเรื่องใดไม่อยากให้ทราบก็นำเหตุผลคำว่าลับมาอ้าง เพื่อหลบเลี่ยงการให้ข้อมูล หรือการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ยกตัวอย่าง รายงานผลการสอบสวนการอับปางเรือรบหลวงสุโขทัย ซึ่งเคยมีการยืนยันว่า ภายหลังการสอบสวนเสร็จแล้ว จะมีการเปิดเผย แต่จนถึงขณะนี้ ที่คณะกรรมาธิการฯ ได้ทำหนังสือขอไปรวมแล้วกว่า 7 ฉบับ กลับมีการบ่ายเบี่ยงมาโดยตลอด อีกทั้งตนยังสงสัยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สามารถเข้าถึงชั้นความลับอะไรได้บ้าง จึงอยากทราบว่าใครสามารถเข้าถึงชั้นความลับได้มากแค่ไหน ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ต้องการคำตอบจากกองทัพ แต่ปรากฏว่าไม่ได้รับความร่วมมือ
ทั้งนี้ ภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการฯ จะมีการขอมติเพื่อส่งหนังสือ 2 ฉบับ คือ ส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 32 เพื่อให้ทบทวนตรวจสอบระเบียบเอกสารชั้นความลับของกระทรวงกลาโหม ว่ามีมาตรฐานอย่างไร เพราะหากไร้มาตรฐาน จะทำให้การตรวจสอบ ความโปร่งใส สุจริต ในการใช้งบประมาณ และการดำเนินการใด ไม่สามารถตรวจสอบได้ รวมทั้งจะเอื้อให้เกิดการทุจริตคอรัปชัน จากการที่ตรวจสอบไม่ได้ ส่วนอีกฉบับจะส่งถึงสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ตามมาตรา 13 และ 28 เพื่อให้คณะกรรมการฯ ตรวจสอบว่า ตกลงแล้ว การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของกระทรวงกลาโหม จะเป็นความลับทั้งหมด และความลับที่ว่าขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของใคร เพราะบางครั้งเปิดเผยโดยให้เข้าไปอ่านได้ แต่แจกจ่ายไม่ได้ หรืออาจต้องให้คณะกรรมการฯ มอบหมายว่า จะให้ใครเข้าไปอ่านได้บ้าง ซึ่งข้อเท็จจริงไม่มีมาตรฐานใดเลยหรือไม่

ต่อมา ชยพล โพสต์ข้อความผ่านบัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า การที่กองทัพขอเลื่อน โดยอ้างว่า กมธ.แจ้งกระชั้นชิด แต่ข้อเท็จจริงคือเอกสารกมธ.ระบุวันไว้ตั้งแต่วันที่ 19 ก.พ. ส่งจดหมายด่วน EMS ไปถึงหน่วยวันที่ 21 ก.พ. เพื่อขอข้อมูลในสิ่งที่ท่านควรมีเป็นมาตรฐานการปฏิบัติอยู่แล้ว ไม่ใช่การขอให้รวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมอย่างใด เรื่องของเอกสารลับ ข้อมูลลับ เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการตรวจสอบของรัฐสภาเป็นอย่างมาก เป็นความน่าสงสัยว่ามาตรฐานที่มีคือตามใจผู้บังคับบัญชาเท่านั้นหรือไม่ เมื่อขอเอกสารที่ลำบากใจก็จะบอกลับ ไม่ก็เลี่ยง ไม่ก็ลืม ไม่ก็หลบหายไปเลย ทำให้ขั้นตอนการตรวจสอบหาความโปร่งใสของกองทัพเกิดขึ้นได้ยาก

ยกตัวอย่างเช่นเอกสารยุทโธปกรณ์ของกองทัพที่ตีหัวลับมาก แต่ปรากฏการซื้อเตียง ฟูก รถตักดิน รถขนน้ำ พ่อพันธุ์ม้า และอื่น ๆ ที่ไม่ควรจะเป็นข้อมูลลับที่ส่งผลต่อความมั่นคงแต่อย่างใด หรือจะกรณีเรือหลวงสุโขทัยที่อดีตผบ.ทร.รับปากออกสื่ออย่างชัดเจนว่าจะเปิดเผยเอกสารข้อมูลทั้งหมด แต่หลังจากส่งหนังสือขอข้อมูลไปมากกว่า 7 ฉบับก็ยังไม่มีการตอบกลับมา หรือจะกรณีเรือดำน้ำเอง ก็ระบำบ่ายเบี่ยงอ้างจีนอ้างความมั่นคงความลับต่าง ๆ เพื่อไม่ตอบข้อสงสัยในเรื่องการใช้งบประมาณหรือคุณภาพของสินค้าเลย
“เรื่องตรงนี้ กมธ.การทหารคงจะยอมง่าย ๆ ไม่ได้ เพื่อการดำเนินงานที่โปร่งใสของกองทัพ เราจะส่งหนังสือเพื่อนัดหน่วยงานล่วงหน้า เจอกันอีกทีตอนเดือนเมษายน จะได้ไม่ต้องเลี่ยง บ่ายเบี่ยง ด้วยเหตุผลใด ๆ อีก” สส.กทม.ระบุ