เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักข่าวอิศรา นำเสนอข่าวบนเว็บไซด์ (www.isranews.org) ระบุว่า : พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดยพรรคประชาชน ได้กำหนดวันยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 ต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568 โดยร่างญัตติฯเบื้องต้นกำหนดรายชื่อรัฐมนตรีที่จะถูกอภิปราย จำนวน 10 คน ดังนี้
1.นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
2.นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
3.นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
4.นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
5.นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
6.นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
7.พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
8.นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
9.นายทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
10.นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับพฤติการณ์อันไม่อาจไว้วางใจให้บริหารราชการแผ่นดินต่อไป รายบุคคล สรุปได้เบื้องต้น ดังนี้
นางสาวแพทองธาร ขาดภาวะผู้นำ ขาดวุฒิภาวะ และขาดความรู้ความสามารถในการบริหารราชการแผ่นดิน สมัครใจยินยอมให้นายทักษิณ ชินวัตร ชี้นำ ชักใย ให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการอันเป็นเรื่องสำคัญของชาติบ้านเมือง แต่งตั้งบุคคลที่ขาดความซื่อสัตย์สุจริต ขาดความรู้ความสามารถให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในรัฐบาล เพียงเพื่อให้มาเป็นนั่งร้านช่วยแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนและกลุ่มบุคคล นำผลประโยชน์ของชาติไปแลกเปลี่ยนกับประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง
บริหารเศรษฐกิจล้มเหลว ดำเนินนโยบายประชานิยมเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ตามที่ให้คำมั่นไว้ต่อสภาและพี่น้องประชาชนอีกทั้งยังขาดคุณธรรมและจริยธรรมอย่างร้ายแรง กระทำการทุจริตเชิงนโยบาย มีเหตุให้เชื่อได้ว่ามีการเรียกรับผลประโยชน์จากโครงการขนาดใหญ่
นายภูมิธรรม ขาดภาวะผู้นำในการบังคับบัญชากองทัพ ไร้เจตจำนงในการปฏิรูปกองทัพ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ยอมให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีอำนาจเหนือตน โดยปล่อยปละละเลยให้กองทัพใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมายจนกลายเป็นกองทัพที่มีอำนาจเหนือพลเรือน
นายสุริยะ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ จงใจไม่รักษาผลประโยชน์ของชาติ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนที่เป็นพวกพ้องของตนเอง
นายอนุทิน ไม่มีความซื่อสัตย์สจริตเป็นที่ประจักษ์ จงใจใช้อำนาจรัฐและกลไกของหน่วยงานกระทรวงมหาดไทยโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เอื้อประโยชน์ให้กับตัวเองและพวกพ้อง
นายพีระพันธุ์ ไม่แก้ไขปัญหาราคาไฟฟ้าและน้ำมันแพงตามที่ได้สัญญาไว้ต่อประชาชน แต่ใช้อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินเพียงเพื่อเอื้อผลประโยชน์ของชาติให้กับกลุ่มทุนพลังงาน
นายมาริษ ดำเนินนโยบายต่างประเทศผิดพลาดต่อสถานการณ์ในเมียนมาล้มเหลว การปราบปรามอาชญากรรมคอลเซนเตอร์ และการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ไร้ความสามารถในการบริหารการศึกษา ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ใช้อำนาจและหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยทุจริตปล่อยปละละเลยและมีส่วนร่วมในการทุจริตภายในกระทรวงศึกษาธิการ
นายเอกนัฏ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ยอมให้กลุ่มทุนต่างชาติเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรของชาติโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทำงานแบบลูบหน้าปะจมูก ปล่อยให้เอกชนประกอบกิจการผิดกฎหมาย สร้างความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องประชาชนอย่างกว้างขวาง
พันตำรวจเอก ทวี มีพฤติการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ สมัครใจใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมายเพื่อช่วยเหลือนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกให้ไม่ต้องถูกจำคุกตามคำพิพากษาของศาล
นายสุชาติ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ กระทำการอันเป็นการขัดกันของประโยชน์ โดยอาศัยความเป็นรัฐมนตรีของตน เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับตนเอง ครอบครัว และพวกพ้อง มีพฤติกรรมตั้งตนเป็นผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ภาคตะวันออกเพื่อให้พวกพ้องและคนต่างด้าวในเครือข่ายของตนประกอบธุรกิจผิดหมาย
ทั้งนี้ ญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคล ดังกล่าวเป็นร่างในเบื้องต้น อาจมีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อรัฐมนตรีและเนื้อหาในการอภิปรายก่อนยื่นญัตติฯต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 27 กุมภาพันธ์
รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า โดยพรรคประชาชน นำโดยนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน พร้อมพรรคร่วมฝ่ายค้าน จะยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ในวันพฤหัสบดี 27 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 10:00 น. ที่ห้องแถลงข่าวรัฐสภา อาคารรัฐสภา
ขณะที่นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการประสานงานสามฝ่าย ว่า ได้มีการหารือกันระหว่างวิปฝ่ายค้าน และรัฐบาลแล้ว กำหนดกรอบเวลาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในเบื้องต้น ว่าจะใช้เวลาในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคม หรือ ระหว่างวันที่ 24-28 มีนาคม 68 สำข่าวดังกล่าวระบุ
แหล่งอ้างอิง: จากสำนักข่าวอิศรา