พม. จับมือ ตำรวจ-ดีอี มุ่งป้องกันผู้สูงวัย จากมิจฯ ออนไลน์ ขอลูกหลานช่วยสอดส่อง

317

ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) วันที่ 26 กุมภาพันธ์ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พม. เป็นประธานการประชุมประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) ครั้งที่ 1/2568 โดยมี นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัด พม., คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม โดยนายธนสุนทร สว่างสาลี อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กล่าวว่า ที่ประชุมได้มุ่งเน้นการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุในทุกมิติ โดยเล็งเห็นถึงความสำคัญของสถานการณ์ผู้สูงอายุของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันผู้สูงอายุถูกหลอกลวงทางออนไลน์เพิ่มขึ้น เนื่องจากไม่สามารถปรับตัวและทำความเข้าใจกับข้อมูลจำนวนมากที่สามารถเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว จึงมักกลายเป็นเหยื่อของเฟคนิวส์และการหลอกลวงบนโลกออนไลน์

นายธนสุนทร กล่าวว่า  จากข้อมูลรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พบว่า ในปี พ.ศ. 2566 มีผู้สูงอายุ ตกเป็นเหยื่อคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จำนวน 12,189 คดี โดยคดีที่สร้างความเสียหายสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มีมูลค่าความเสียหาย เป็นเงินจำนวน 3,000 ล้านบาท 2) คดีหลอกลวงให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบในเครื่องโทรศัพท์ มีมูลค่าความเสียหาย เป็นเงินจำนวน 733 ล้านบาท และ 3) คดีข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน มีมูลค่าความเสียหาย เป็นเงินจำนวน 729 ล้านบาท

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ในสังคมสูงวัย  กระทรวง พม. และคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ จึงร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ตำรวจไซเบอร์) และหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ผลักดันแนวทางการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ในสังคมสูงวัย เพื่อรองรับสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

นายธนสุนทร กล่าวว่า ถึงแม้จะมีแนวทางในการป้องกันที่ดี แต่ผู้สูงอายุเองจะต้องมีสติในการทำธุรกรรมทางการเงินหรือการเล่นสื่อออนไลน์ต่างๆ ด้วย คาถา “หยุด คิด ถาม ทำ เริ่มจาก หยุด : เพื่อตั้งสติก่อนตัดสินใจใดๆ เมื่อได้รับสื่อ คิด : คิดถึงประโยชน์ หรือโทษที่อาจได้รับการใช้สื่อ ถาม : ไม่รู้ต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมหรือถามจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ และ ทำอย่างถูกต้องรู้เท่าทัน จึงขอฝากลูกหลาน และครอบครัว ให้ช่วยกันหมั่นสังเกตพฤติกรรมของผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิด ซึ่งครอบครัวจะสามารถช่วยผู้สูงอายุ ด้วยการให้ข้อมูล ความรู้ และให้คำปรึกษาได้