เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 ที่อาคารสาธารณสุขวิศิษฐ์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพฯ พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านวิชาการ เรื่อง การเผยแพร่ความรู้และส่งเสริมการใช้เวชศาสตร์วิถีชีวิตในการดำเนินชีวิตและการประกอบวิชาชีพของบุคลากรและประชาชน และการประชุมวิชาการด้านเวชศาสตร์วิถีชีวิตและสุขภาวะ “ประชากรสูงอายุและประชากรลดลง : จากการคาดการณ์ สู่ การป้องกัน” ซึ่งจัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สมาคมเวชศาสตร์วิถีชีวิตและสุขภาวะไทย (TLWA) ร่วมกับ Intemational Board of Lifestyle Medicine, Lifestyle Medicine Global Alliance องค์กรพันธมิตรเดิม 21 องค์กร และองค์งค์กรพันธมิตรใหม่
โอกาสนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) บรรยายพิเศษในหัวข้อ “ประชากรสูงอายุและประชากรหดตัว : วิสัยทัศน์ กลยุทธ์ และพันธกิจในระยะยาว” (Aging and Shrinking Population : Vision, Strategy and Long-term Commitment) ว่า 3 เรื่องสำคัญ เริ่มจาก 1. สถานการณ์ : ประชากรหดตัวและประชากรสูงอายุ (Situation : Aging and Shrinking Population) ขณะนี้ มีประชากรโลก 8,200 ล้านคน และมีแนวโน้มอัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลง ควบคู่กับจำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้น ซึ่ง 63 ประเทศทั่วโลก ไม่มีแนวโน้มที่จะเพิ่มประชากรขึ้นอีก เช่น จีน เยอรมัน ญี่ปุ่น รัสเซีย และไทย เป็นต้น และภายในปี พ.ศ. 2568 คาดว่าผู้สูงอายุทั่วโลกจะมีจำนวน 1,200 ล้านคน คิดเป็น 14.63% ของประชากรโลก อีกทั้งภายในปี พ.ศ 2593 คาดว่าผู้สูงอายุทั่วโลกจะมีจำนวน 2,000 ล้านคน ส่งผลให้ประชากรทั่วโลกมีแนวโน้มหดตัว
นายวราวุธ กล่าวว่า สำหรับประชากรผู้สูงอายุพบว่า จีนมีประชากรผู้สูงอายุมากที่สุด ประมาณ 278 ล้านคนทั่วประเทศ คิดเป็น 19.50% และประเทศที่มีผู้สูงอายุมาก ติดอันดับ TOP 10 ของโลก อยู่ในเอเชียถึง 4 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย ซึ่งไทยอยู่อันดับที่ 17 มีผู้สูงอายุ 20.94% และจะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 28% ภายใน 10 ปีข้างหน้า ในขณะที่ปี 2567 ไทยมีอัตราเด็กเกิดใหม่เป็นครั้งแรกในรอบ 75 ปี นับจากปี 2492 ที่มีเด็กเกิดใหม่ต่ำกว่า 5 แสนคน อีกทั้ง นับเป็นปีที่ 4 ที่มีคนตายมากกว่าเกิด ซึ่งอัตราการเพิ่มตามธรรมชาติของประชากรติดลบสูงเป็นประวัติการณ์
นายวราวุธ กล่าวว่า เมื่อพูดถึงปรากฏการณ์ “ประชากรหดตัว” ในปี 2567 โลกเผชิญกับแนวโน้มอัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลง โดยเฉพาะในเอเชีย อาทิ เกาหลี สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ซึ่งไทยมีอัตราเจริญพันธุ์รวมลดลงเป็นประวัติการณ์เช่นกัน ทั้งนี้ ประเทศเหล่านี้จึงได้ขับเคลื่อนนโยบายการเพิ่มอัตราการเกิด ด้วยการเพิ่มศูนย์เด็กเล็ก เพิ่มวันลาหยุดของผู้เลี้ยงดูเด็ก การให้เงินอุดหนุนสำหรับเด็กแรกเกิด การใช้เทคโนโลยีสนับสนุนการมีลูก และการเพิ่มสวัสดิการให้เด็ก ในขณะที่ประเทศไทยได้ขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมการมีบุตร อาทิ กระทรวงสาธารณสุขขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพ การจัดตั้งคลินิกส่งเสริมการมีบุตรในโรงพยาบาล และการทำเด็กหลอดแก้ว ในส่วนของกระทรวง พม. มีการสนับสนุนเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดถึง 6 ปี รายละ 600 บาทต่อเดือน การจัดตั้งศูนย์เด็กเล็กใกล้บ้าน และการสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาศักยภาพเด็ก ในขณะที่ประชากรแรงงานของไทย ปี 2567 มีคนทำงาน 37.2 ล้านคน แต่ในอีก 50 ปีข้างหน้า ปี 2616 คนทำงานจะลดลงเหลือ 22.8 ล้านคน ซึ่งจะหายไปประมาณ 15 ล้านคน ทำให้เป็นที่มาของการใช้คำว่าวิกฤตประชากร
คนที่อยู่ตรงกลาง (Sandwich Generation) ต้องกลายเป็น “เดอะแบก” เพราะต้องใช้เวลาเฉลี่ยกว่า 13 ชั่วโมงต่อวันในการทำงานและรับผิดชอบดูแลทั้งพ่อแม่สูงอายุและลูกของตนเอง ส่งผลให้มีความเปราะบางทางการเงินและสุขภาพ เห็นได้จากลักษณะครัวเรือน Sandwich ในไทย ที่มีจำนวน 3.4 ล้านครัวเรือน คิดเป็น 14% มีอัตราพึ่งพิงสูง คือวัยแรงงาน 100 คนต้องดูแลเด็กและผู้สูงอายุรวม 86 คน อีกทั้งสมาชิกในครัวเรือน Sandwich ส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ มีเงินออมน้อยกว่า 20,000 บาทต่อครัวเรือน
และ สังคมสูงวัยเป็นเรื่องของเราทุกคน (Together possible) ซึ่งกระทรวง พม. ได้ขับเคลื่อน นโยบาย “5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร ซึ่งประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ x 5 มาตรการ ได้แก่ 1) เสริมพลังวัยทำงาน 2) เพิ่มคุณภาพ และผลิตภัณฑ์ของเด็กและเยาวชน : New Gen ที่เจ๋งกว่าเก่า 3) สร้างพลังผู้สูงอายุ : มีหลักประกัน มีคุณค่า มีศักดิ์ศรี 4) เพิ่มโอกาสและเสริมสร้างคุณค่าคนพิการ และ 5) สร้างระบบนิเวศที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาความมั่นคงของครอบครัว สำหรับการสร้างพลังผู้สูงอายุนั้น กระทรวง พม. ได้ดำเนินการ 5 มาตรการ ได้แก่ 1) มุ่งป้องกันมากกว่าการรักษา : โรงเรียนผู้สูงอายุ 2) ขยายโอกาสทางเศรษฐกิจ : Upskill , Reskill , การจ้างงานผู้สูงอายุ 3) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน 4) ส่งเสริมให้มีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย และ 5) ส่งเสริมให้มีการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลสวัสดิการผู้สูงอายุ
นายวราวุธ กล่าวว่า กระทรวง พม. ยังได้ดำเนินโครงการผู้บริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้บริบาลในการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนและให้ผู้สูงอายุได้อยู่อาศัยในถิ่นเดิม (Agent In Place) อีกทั้งเป็นการสร้างระบบกลไกการดูแลผู้สูงอายุครอบคลุมทุกมิติในระดับพื้นที่ ทั้งนี้ ปีงบประมาณ 2568 จะขยายผลโครงการฯ ให้ครอบคลุม 76 จังหวัด 156 พื้นที่ ทำให้มีผู้บริบาลคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ รวมจำนวน 342 คน ซึ่งสามารถดูแลผู้สูงอายุได้เป็นจำนวนมากถึง 342,000 คน ในขณะที่ การช่วยเหลือดูแลเรื่องสิทธิสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุนั้น ในปี 2568 มีผู้สูงอายุได้รับเบี้ยอยู่กว่า 12 ล้านคน แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้สูงอายุดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เฟส 2 มีผู้สูงอายุได้รับสิทธิจำนวน 3,025,596 คน เป็นการบรรเทาภาระค่าครองชีพให้กับผู้สูงอายุได้มีโอกาสเข้าถึงการใช้จ่ายที่จำเป็น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้งช่วยสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบและกระตุ้นเศรษฐกิจ