ที่สภาผู้แทนราษฎร วันที่ 20 กุมภาพันธ์ ณรงเดช อุฬารกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา ขอให้สภาฯ พิจารณาแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ โดยระบุว่าสถานการณ์ในเวลานี้ราคารับซื้อข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 25% เดือนกุมภาพันธ์ 2568 มีราคาลดลงถึง 30% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากตันละ 10,000 บาทเหลือเพียงตันละ 6,000-7,000 บาท ในบางพื้นที่ก็ขายได้เพียงตันละประมาณ 5,000 บาทเท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าราคาต้นทุน โดยสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตรได้คาดการณ์ว่าราคาข้าวมีแนวโน้มลดลงจากปี 2567 จากการที่อินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติอีกครั้ง อีกทั้งมีการกำหนดราคาส่งออกขั้นต่ำที่ 490 เหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะมีผลต่อราคาข้าวของไทยทั้งในและต่างประเทศ จากการคาดการณ์ปริมาณผลผลิตข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและจะเป็นแรงกดดันให้ไทยต้องปรับเปลี่ยนราคาลงมาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
ณรงเดชกล่าวว่า รายงานฉบับนี้เผยแพร่มา 2 เดือนแล้ว รัฐบาลทำอะไรบ้าง ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์ โดยเฉพาะกรมการค้าภายในซึ่งมีหน้าที่ในการกำกับดูแลสินค้าโดยเฉพาะข้าว สถานการณ์ดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบกับทุกประเทศที่ส่งออกข้าวเป็นสินค้า ซึ่งแต่ละประเทศก็มีแนวทางในการปรับตัวที่แตกต่างกัน เช่น อินเดียส่งออกข้าวโดยไม่มีภาษีส่งออกและกำหนดราคาขั้นต่ำที่ต่ำกว่าราคาตลาด เวียดนามให้ความสำคัญกับการเพิ่มคุณภาพข้าวมากกว่าการเพิ่มปริมาณ และพยายามปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จีนมีการใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาการเพาะปลูกข้าว รวมทั้งพัฒนาพื้นที่ชลประทานให้สามารถทำนาได้มากขึ้น และส่งเสริมให้คนบริโภคข้าวในประเทศแทนการนำเข้าข้าว

สส.บัญชีรายชื่อ ปชน. ตั้งคำถามว่า รัฐบาลไทยได้เตรียมการเพิ่มคุณภาพข้าว เพิ่มเทคโนโลยีการผลิต ส่งเสริมการบริโภคในประเทศ และปรับปรุงพันธุ์ข้าวบ้างหรือไม่ คณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการข้าว (นบข.) ซึ่งมีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับข้าวและกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ประชุมครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2567 โดยมติที่ประชุมวันนั้นได้ให้ยกเลิกโครงการปุ๋ยคนละครึ่งและทำโครงการไร่ละพัน หลังจากนั้น นบข. ก็ไม่ได้มีการประชุมอีกเลย ไม่เข้าใจว่าเหตุใด รัฐบาลหรือ นบข. ถึงไม่มีกลไกในการเรียกประชุมอัตโนมัติเมื่อข้าวราคาตก ทำไมต้องรอให้ชาวนาออกมาประท้วงแล้วค่อยเรียกประชุม
ณรงเดชกล่าวต่อไปว่าเมื่อเช้านี้กรมการค้าภายในได้ให้ข้อมูลต่อ กมธ.เกษตรและสหกรณ์ว่าไม่ทราบเหมือนกันว่ามาตรการช่วยเหลือที่เรียกร้องไปจะถึงชาวนาได้เมื่อไหร่ นี่เป็นวิกฤตการนำของรัฐบาลอย่างแท้จริงที่ไม่สามารถตอบคำถามได้ว่าจะสามารถแก้ปัญหาให้ชาวนาได้เมื่อไหร่ เมื่อวาน รมว.พาณิชย์ให้สัมภาษณ์ว่ามีการเตรียม 7 มาตรการ ทั้งการนัดประชุมอนุกรรมการ นบข., จัดตลาดนัดข้าวเปลือก, เตรียมบินไปเจรจาขายข้าวที่แอฟริกาใต้, ขายข้าวจีทูจีให้จีน, สนับสนุนสินเชื่อให้โรงสีและผู้ส่งออก, จัดงาน Thai Rice Convention เพื่อทำ business matching, และเปิดตลาดใหม่ไปร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ

ชาวนาเริ่มเกี่ยวข้าวแล้วกระทรวงพาณิชย์ยังหาตลาดอยู่ และไม่ได้บอกว่าจะขายที่ราคาเท่าไหร่ ซึ่งเมื่อรวมทุกโครงการสามารถนำข้าวออกจากระบบได้เพียง 6 แสนตันเท่านั้นจากผลผลิตข้าวนาปรัง 7.86 ล้านตันข้าวเปลือก หรือผลผลิตปีนี้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 18% แต่รัฐบาลหาตลาดได้เพิ่มขึ้นเพียง 10% เท่านั้น ขณะที่หลายประเทศเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ข้าวราคาตกต่ำ ประเทศไทยกลับมีมาตรการที่นอกจากจะไม่สนับสนุนเกษตรกรแล้วยังเพิ่มภาระต้นทุน ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช ค่าแรง ค่าจัดการน้ำ และค่าเครื่องจักรทางการเกษตร ให้เกษตรกรด้วย
ณรงเดชกล่าวว่าเมื่อรัฐบาลออกมาตรการห้ามเผาในภาคเกษตร ก็ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชาวนาและโครงสร้างต้นทุนการผลิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งค่าใช้แรงงานที่สูงขึ้นจากการต้องใช้แรงงานในการเก็บข้าวดีด/ข้าวเด้ง และการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ในนา, ต้นทุนทางเครื่องจักรและอุปกรณ์ใหม่ๆ เพื่อจัดการกับเศษวัสดุ, ค่าใช้จ่ายในการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้โดยไม่เผา ทั้งการขนส่งและการจัดการในรูปแบบอื่น, ต้นทุนสารจุลินทรีย์และสารเคมีที่ต้องใช้ในการช่วยย่อยสลายตอซังและฉีดคลุมวัชพืช, การเปลี่ยนแปลงระบบการจัดการการผลิตที่ชาวนาต้องวางแผนจัดการน้ำใหม่, ผลกระทบด้านเศรษฐกิจและเวลาจากการเปลี่ยนวิธีการผลิต ที่ชาวนาต้องใช้เวลามากขึ้นในการเก็บเกี่ยวและการจัดการเศษวัสดุ และผลกระทบต่อราคาขายและอำนาจในการต่อรองราคาที่ต่อรองได้น้อยลงจากภาระหนี้สินที่มีอยู่

จากต้นทุนที่ชาวนาต้องแบกรับมากขึ้นจากมาตรการของรัฐบาลที่ขาดการเตรียมความพร้อมในระยะสั้น รัฐบาลมีความจำเป็นต้องเยียวยาให้ชาวนาที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการลดการเผา ในระยะกลางรัฐบาลจำเป็นต้องทบทวนนโยบายหรือโครงการที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ทั้งหมด ว่ามีเป้าหมายในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหรือไม่และดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ เช่น โครงการส่งเสริมการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าวของกรมการข้าว ที่จะช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่และเพิ่มราคาจากพันธุ์ข้าวที่ดีขึ้น แม้จะได้รับการตอบรับที่ดีจากชาวนา แต่กลับมีเงื่อนไขในการเข้าร่วมโครงการที่ซับซ้อนและสนับสนุนชาวนาได้อย่างจำกัด ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ที่หาตลาดที่เน้นเพิ่มปริมาณการส่งออก ต่อไปนี้จะเพิ่มราคาขายเข้าไปเป็นตัวชี้วัดได้ด้วยหรือไม่ และกระทรวงพาณิชย์ควรเลิกทำ FTA ที่ภาคการเกษตรต้องเสียประโยชน์ได้หรือไม่
ณรงเดชกล่าวต่อไปว่าสุดท้ายในระยะยาว การเพิ่มคุณภาพข้าว กระบวนการผลิต และการเพิ่มมูลค่าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาโดยเฉพาะการวิจัยสายพันธุ์ข้าว การสนับสนุนเทคโนโลยีด้านเครื่องจักร การเพิ่มมูลค่าจากการผลิตข้าวหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เป็นแนวทางที่ตรงไปตรงมาที่สุดในการพัฒนาข้าวไทย มีราคาที่ต้องจ่ายน้อยกว่าการอุดหนุนราคา และจะเป็นแนวทางในการช่วยเหลือชาวนาที่ดีที่สุดในระยะยาว แต่น่าเสียดายที่รัฐบาลไม่เคยมีแนวนโยบายสนับสนุนที่ชัดเจน มีแต่การเรียกประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเป็นครั้งๆ