พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ประจำวันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม 2561 ในตอนหนึ่งว่า การปฏิรูปประเทศนั้น เราจะมองเฉพาะในมุมของเรา หรือปัจจัยภายในประเทศ แต่เพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ เราต้องทำงานเชิงรุก โดยสร้างจุดยืนของเราในเวทีระหว่างประเทศ ที่เป็นปัจจัยภายนอกด้วย ให้สามารถรู้เท่าทัน ไปจนถึงสร้างสภาวะที่เกื้อกูลต่อการขับเคลื่อนประเทศของเราไปด้วย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ช่วงเดือนตุลาคมนี้ ตนมีโอกาสได้เดินทางไปต่างประเทศ เพื่อเข้าร่วมการประชุมต่าง ๆ บ่อยครั้ง ได้รับทราบมุมมองของประเทศต่าง ๆ ก็อยากมาเล่าสู่กันฟังกับพี่น้องประชาชนคนไทย  หลังจากกลับมาจากการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นในวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมาแล้ว  ผมก็ได้เดินทางไปประชุมระดับผู้นำอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ โดยมีผู้นำองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ องค์การสหประชาชาติ  กองทุนการเงินระหว่างประเทศ  และธนาคารโลก ที่เมืองบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ซึ่งท่านผู้นำอาเซียนได้ร่วมกันแสดงวิสัยทัศน์ และบทบาทที่สำคัญในความร่วมมือที่จะผลักดันการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) รวมถึงการลดช่องว่างการพัฒนาเพื่อส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค โดยใช้ประโยชน์จากความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภูมิภาค และความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ เราต้องคำนึงถึงความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในด้านเศรษฐกิจอีกด้วย การประชุมครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่องค์การระหว่างประเทศได้ให้กับภูมิภาคอาเซียน และประเด็นเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ผมก็ได้แลกเปลี่ยนมุมมองกับที่ประชุม ในเรื่องหลัก ๆ 3 เรื่อง ได้แก่

1. การส่งเสริมเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของภูมิภาค และของโลก ภายใต้ภาวะแวดล้อมที่มีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจสูง ซึ่งที่ผ่านมาฐานะด้านการต่างประเทศของไทยที่เข้มแข็ง และการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจแบบผสมผสาน รวมทั้งมีความยืดหยุ่น เหมาะสมกับสถานการณ์ ก็ได้ช่วยบรรเทาความผันผวนในตลาดการเงินได้ในระดับหนึ่ง และส่งเสริมเศรษฐกิจของภูมิภาคในอนาคต  ผมจึงขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันสนับสนุนนโยบายการค้าเสรีอย่างต่อเนื่อง แต่จะต้องสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินตั้งแต่ในระดับประเทศ ก็คือมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพียงพอ และมีหนี้สินต่างประเทศที่ไม่สูงจนเกินไป ให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งขณะนี้หนี้ต่างประเทศของเราอยู่ที่ประมาณร้อยละ 35 ซึ่งนับว่าดีกว่าหลักเกณฑ์สากลที่กำหนดว่าไม่ควรสูงเกินร้อยละ 80  อันนี้เป็นเรื่องของหนี้ต่างประเทศ หนี้สาธารณะนั้นอีกตัวหนึ่ง อันนั้นเราไม่เกิน 60 ในภาพรวม เรามีประมาณ 40 กว่า ๆ ซึ่งที่กำหนดไว้แล้วนั้น ก็จะต้องมองไปตามขนาดเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งหากเกินกว่านั้นก็จะเป็นสัญญาณอันตรายในระดับภูมิภาค ผ่านความร่วมมือทางการเงินและความช่วยเหลือกันในด้านต่าง ๆ และในระดับโลก ผ่านความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศในการสอดส่องดูแลเศรษฐกิจการเงิน และการสนับสนุนทางการเงินที่เป็นวงกว้าง เพื่อช่วยเหลือประเทศที่เกิดวิกฤต และป้องกันไม่ให้วิกฤตลุกลามไปยังประเทศอื่น ๆ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ประเทศสามารถมีกันชน ช่วยป้องกันความเสี่ยงทางการเงินได้ดีขึ้นแล้ว กลไกความร่วมมือเหล่านี้ยังจะช่วยเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงบริการด้านการเงินของประชาชนได้มากขึ้นด้วย

2. ผมได้เชิญชวนให้ World Bank และ UN ทำการศึกษาวิจัยเพื่อจะเพิ่มความเชื่อมโยงระหว่างยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงเดิมในภูมิภาค เช่น ACMECS และ IMT-GT รวมถึงการสร้างหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่าง World Bank, ADB และ AIIB ในการระดมทุน และ

3. การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของ UN หรือ SEP for SDG ในบริบทของภูมิภาค ประกอบกับการที่อาเซียนจะจัดตั้งศูนย์อาเซียนเพื่อการหารือและการศึกษาวิจัยด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย ในปี 2562 ก็ถือเป็นปัจจัยส่งเสริมให้อาเซียนบรรลุ SDGs และเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางมากยิ่งขึ้น ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และมีวิสัยทัศน์ สร้างอนาคตร่วมกันอย่างมียุทธศาสตร์