นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีอัยการ สํานักงานชี้ขาดคดี สำนักงานอัยการสูงสุด โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ค ถึงกรณีนายพิเศษ นาคะพันธุ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ช. ชักปืนขู่รถแท็กซี่ที่ขับตามมาภายในศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ว่า หลังจากที่ได้แสดงความเห็นเรื่องการชักปืนออกมาเล็งไปยังผู้อื่น ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากมายตามข้อมูลที่ได้รับ ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ก็ขอบคุณทุกความเห็น เป็นเรื่องที่ดีที่ประชาชนจะได้รู้และได้เข้าใจกฎหมายมากขึ้น ขอบคุณที่ไม่ค่าทอหรือตำหนิกัน เห็นต่างกันก็รักกันได้ การตีความกฎหมายนั้น เราต้องตีความเพื่อปกป้องสาธารณชน ไม่ใช่ตีความเพื่อปกป้องบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เราใช้กฎหมายเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย มิใช่เพื่อยุยงส่งเสริมให้มีการกระทำแบบนั้นอีก
นายปรเมศวร์ กล่าวด้วยว่า วันนี้จะอธิบายเพิ่มเติมว่า การกระทำดังกล่าวน่าจะเป็นความผิดฐานใดบ้างและต้องรับผิดเพียงใด เริมต้นที่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
๑) ฐานพาอาวุธปืนติดตัวโดยไม่มีเหตุอันควร ตาม มาตรา ๓๗๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบวัน หรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๘ ทวิ ๗๒ ทวิ วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท แม้จะมีใบอนุญาตแต่เพราะไม่มีเหตุอันควรและไม่อยู่ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ตามที่ ปปช. แถลงว่ากรณีดังกล่าวอยู่นอกเวลาราชการ
๒) ฐานชักหรือแสดงอาวุธในการวิวาทต่อสู้ ตามมาตรา ๓๗๙ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบวัน หรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
๓) ฐานทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัว มาตรา ๓๙๒ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
๔) ฐานพยายามฆ่าตาม มาตรา ๒๘๘, ๘๐,๘๒ ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
“ซึ่งมาตรา ๒๘๘ ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี นี่คือ ๔ ข้อหาที่พนักงานสอบสวนควรตั้ง
ส่วนความรับผิดหรือโทษที่จะได้รับเรียงกระทงลงโทษตาม มาตรา ๙๑ ในความผิดยองฐาน คือ ๑) ฐานพาอาวุธปืน ๒) ฐานชักหรือแสดงอาวุธในการวิวาทต่อสู้ กับ ฐานทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัว อันเป็นความกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบทตามมาตรา ๙๐ ซึ่งทั้งสองฐานนี้มีโทษทั้งจำและปรับ แต่จะลงโทษเท่าใดเป็นดุลพินิจของศาล และริบอาวุธปืนที่ใช้ในการกระทำความผิดตาม มาตรา ๓๗๑, ๓๓” นายปรเมศวร์ กล่าว
นายปรเมศวร์ กล่าวเพิ่มว่า ส่วนฐานพยายามฆ่า นั้น เมื่อผู้กระทำยับยั้งเสียเองไม่กระทำการให้ตลอด หรือกลับใจแก้ไขไม่ให้การกระทำนั้นบรรลุผล ผู้นั้น “ไม่ต้องรับโทษสำหรับการพยายามกระทำความผิดนั้น” แต่ถ้าการที่ได้กระทำไปแล้วต้องตามบทกฎหมายที่บัญญัติเป็นความผิดผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น ๆ
“สรุปได้ว่า กรณีดังกล่าวผู้กระทำมีความผิดรวมสี่ฐาน และรับโทษในความผิดฐานพาอาวุธปืน และฐานชักหรือแสดงอาวุธในการวิวาทต่อสู้และทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัว เท่านั้น ส่วนความผิดฐานพยายามฆ่าไม่ต้องรับโทษ แต่ต้องระบุไว้ในประวัติว่าเคยทำความผิดฐานนี้ คำถามต่อไปที่ประชาชนยังสงสัยคือ “แล้ว ปปช. จะดำเนินการต่อไปอย่างไร” อันนี้ผมไม่ก้าวล้วงครับ” นายปรเมศวร์ กล่าว
หลังจากทีผมได้แสดงความเห็นเรื่องการชักปืนออกมาเล็งไปยังผู้อื่น ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากมายตามข้อมูลที่ได้รับ…
โพสต์โดย ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม เมื่อ วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม 2018