น.1 สั่งสอบด่วน! ปมตำรวจเก็บเงินค่าคอร์สอบรมอาสาตำรวจจีน 3.8 หมื่นบาท หากผิดฟันอาญาและวินัยทันที !!

158

จากกรณีที่ปรากฏในสื่อโซเชียลว่า ตำรวจนครบาล 3 มีการเรียกเก็บค่าคอร์สเข้าอบรมเป็นอาสาสมัครตำรวจบ้านกับชาวจีน โดยคิดราคาคอร์สละ 38,000 บาทนั้น

พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. ในฐานะโฆษก บช.น. เปิดเผยว่า พล.ต.ท.สยาม บุญสม ผบช.น. ได้กำชับให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวอย่างละเอียดซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า มีหนังสือจากมหาวิทยาลัยสยามได้มีการจัดโครงการอบรมหลักสูตรแจ้งข่าวอาชญากรรมและให้ความรู้ในการป้องกันตัวเองแก่นักศึกษาต่างชาติ โดยมหาวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินการจัดอบรมและขอความร่วมมือจาก กก.สส.บก.น.3 เป็นที่ปรึกษาแนะนำให้ความรู้ ทางตำรวจเห็นว่าการจัดอบรบดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งทาง กก.สส.บก.น.3 เห็นว่ามหาวิทยาลัยสยามเป็นผู้จัดการอบรมใช้งบประมาณและสถานที่ตามที่มหาวิทยาลัยสยามกำหนด

นอกจากนี้ยังพบว่าทางมหาวิทยาลัยได้มีหนังสือมายังกองบังคับการตำรวจนครบาล 3 เลขที่ 13 DECC2567CHI1ac1 ลงวันที่ 13 ธ.ค.2567 โดยมี Dr.LI ZHANG ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนานาชาติ มหาวิทยาลัยสยามเป็นผู้ลงนาม ถึงการจัดทำโครงการฝึกอบรมนักศึกษา นานาชาติ มหาวิทยาลัยสยาม จำนวน 30 คน และขอความอนุเคราะห์จัดวิทยากรพิเศษบรรยาย โดยมี พ.ต.ท.เกรียงศักดิ์ ช่วงวงศ์ รอง ผกก.สส.บก.น.3 เป็นผู้ประสานงานและผู้ร่วมพัฒนาร่างโครงการ ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่าเป็นหนังสือจริงและเป็นหนังสือที่ออกโดยถูกต้องหรือไม่

โครงการดังกล่าวมหาวิทยาลัยสยามเป็นผู้จัดอบรมและออกค่าใช้จ่ายพร้อมทั้งมีการออกใบประกาศเกียรติคุณ ลงวันที่ 27 ธ.ค.2567 ให้แก่ผู้ผ่านการอบรมว่าได้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นสมาชิกแจ้งเหตุข่าวอาชญากรรม และ การจราจร ด้านการมีส่วนร่วมของนักศึกษาและประชาชน ลงนามโดย Dr.LI ZHANG ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่าย กิจการนานาชาติ มหาวิทยาลัยสยาม และ ผกก.สส.บก.น.3

อย่างไรก็ตามในเรื่องระเบียบ ตร. ว่าด้วยการส่งเสริมให้ประชาชน ชุมชน ท้องถิ่นและองค์กรมีส่วนร่วม
ในกิจการตำรวจ พ.ศ.2551 นั้น ผู้ที่จะเป็นอาสาสมัครตำรวจบ้าน หรืออาสาจราจร ต้องผ่านการคัดเลือกจากสถานีตำรวจและสถานีตำรวจเป็นผู้จัดทำโครงการฝึกอบรม โดยมีการเกณฑ์การคัดเลือกจากผู้มีสัญชาติไทยและอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ หรือชาวต่างชาติที่สมรสกับคนไทยและมีถิ่นที่อยู่อาศัยอันเป็นปกติ ในเขตพื้นที่สถานีตำรวจ ต้องมีการรับรองจากบุคคลที่เชื่อถือได้หรือตำรวจรวม 3 คน ปฏิบัติหน้าที่ได้
คราวละ 2 ปี ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นการจัดกิจกรรมของมหาวิทยาลัยสยาม ซึ่งทาง กก.สส.บก.น.3 ไม่ได้เป็น
ผู้จัดอบรมแต่อย่างใด

ทั้งนี้ การใช้เครื่องหมายราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งการใช้สัญลักษณ์ตัวอักษร CIB ระบุว่า ตำรวจสอบสวนกลาง ซึ่งเป็นหน่วยงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะต้องทำการตรวจสอบว่าได้รับอนุญาตให้ใช้หรือไม่ หากพบว่าผู้ใดมีการนำเครื่องหมายดังกล่าวไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติ เครื่องหมายราชการ พ.ศ. 2482 ฐานใช้เครื่องหมายราชการโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานราชการที่กำหนดเครื่องหมาย ตามมาตรา 6 ประกอบ มาตรา 8 ซึ่งมีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 2,000 บาท

พล.ต.ต.นพศิลป์ กล่าวต่อว่า เบื้องต้น ผบก.น.3 ได้มีคำสั่ง บก.น.3 ที่ 1/2568 ลง 2 ม.ค.2568 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมี พ.ต.อ.สุทธิศักดิ์ วันที รอง ผบก.น.3 เป็นประธาน หากพบว่ามีการกระทำผิดวินัย จะได้ดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้เกี่ยวข้องต่อไป

ทั้งนี้ บช.น. ขอเรียนให้ทราบว่า การอบรมให้ความรู้ในการแจ้งข่าวอาชญากรรมและในการป้องกันตัวเองแก่ประชาชน ถือว่าเป็นแนวคิดที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งสามารถขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไปเป็นวิทยากร ให้ความรู้เกี่ยวกับอาชญากรรมทั่วไป กฎหมายเบื้องต้น รวมทั้งทักษะในการป้องกันตัวได้ แต่ทั้งนี้ การที่จะเป็น อาสาสมัครตำรวจบ้าน หรือ อาสาจราจร จะต้องผ่านการฝึกอบรมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ และมีคุณสมบัติ ตามระเบียบ ตร.ว่าด้วยการส่งเสริมให้ประชาชน ชุมชน ท้องถิ่นและองค์กรมีส่วนร่วมในกิจการตำรวจ พ.ศ.2551 เท่านั้น

#Thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์ #ข่าวอาชญากรรม #ข่าวตำรวจ