กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกแนะนำการใช้ศาสตร์การแพทย์แผนไทยและแผนจีน เพื่อดูแลสุขภาพและบรรเทาอาการจากผลกระทบของฝุ่น PM 2.5 โดยเฉพาะอาการที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจและผิวหนัง พร้อมเผยเคล็ดลับการใช้สมุนไพร ยาปราบชมพูทวีป พลู พญายอ บัวบก ขมิ้นชัน ว่านหางจระเข้ ทองพันชั่ง อาหารและสมุนไพรที่มีสรรพคุณตามหลักการแผนจีน เช่น สาลี่ แห้ว หัวไชเท้า รวมถึงการนวดกดจุดเพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาสุขภาพ
นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของประชาชน เช่น โรคทางเดินหายใจและอาการทางผิวหนัง โดยแนะนำให้ใช้ตำรับยาสมุนไพรที่หาได้ง่าย เพื่อบรรเทาอาการที่มีผลกระทบต่อสุขภาพในสถานการณ์ดังกล่าว เช่น ระบบทางเดินหายใจ ใช้ตำรับยาปราบชมพูทวีป ซึ่งเป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ปัจจุบันได้พัฒนายาให้เป็นชนิดแคปซูล/เม็ด เพื่อรับประทานได้ง่าย เหมาะสำหรับอาการภูมิแพ้ระยะแรกเริ่ม และหากมีอาการระคายเคืองในระบบทางเดินหายใจ สามารถใช้สมุนไพรกลุ่ม ชาหญ้าดอกขาว ชงดื่มหลังอาหารวันละ 3 ครั้ง เพื่อลดอาการ ควรระวังในการใช้กับผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคไต เนื่องจากในหญ้าดอกขาวมีโพแทสเซียมสูง ส่วนอาการทางผิวหนัง เช่น ผด ผื่น คัน สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของพลู พญายอ บัวบก ขมิ้นชัน ว่านหางจระเข้ และ ทองพันชั่ง ทาบริเวณที่มีอาการก็จะช่วยบรรเทาอาการดังกล่าวได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการทำงานและ การออกกำลังกายกลางแจ้ง หากจำเป็นควรออกกำลังกายภายในอาคาร เลี่ยงฝุ่น และควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อต้องออกไปกลางแจ้ง
ทางด้าน นพ.กุลธนิต วนรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ในช่วงที่มีฝุ่น PM 2.5 มาก จะส่งผลกระทบต่ออวัยวะปอดและระบบทางเดินหายใจ ตามทฤษฎีปัญจธาตุของศาสตร์การแพทย์แผนจีน สีขาวจะสัมพันธ์กับอวัยวะปอด ดังนั้นอาหารที่มีสีขาวตามธรรมชาติจะช่วยบำรุงปอด เช่น สาลี่ ช่วยระบายความร้อน สร้างสารน้ำ ให้ความชุ่มชื้น แก้กระหายน้ำ คอแห้ง แก้ไอขับเสมหะ ในทางวิทยาศาสตร์สาลี่มี วิตามิน C K B1 และ B2 สารกลุ่มฟลาโวนอยด์และสารประกอบฟีโนลิค ซึ่งช่วยต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบ อาหารสีขาวอื่นที่มีน้ำเยอะๆ ผสมอยู่ก็จะช่วยลดเสมหะและการไอได้ เช่น แห้ว หัวไชเท้า และสามารถบำรุงปอดได้เช่นกัน
อีกทั้งการแพทย์แผนจีนยังแนะนำการนวดกดจุดเพื่อลดอาการไม่พึงประสงค์จากฝุ่น PM 2.5 ดังนี้ 1) จุดอิ๋งเซียง เป็นจุดรักษาโรคที่เกิดจากลมภายนอกเข้ามากระทบร่างกาย โดยจุดอยู่บนร่องแก้มระดับเดียวกับกึ่งกลางปีกจมูก ใช้นิ้วชี้กดที่จุดอิ๋งเซียงทั้งสองข้าง กดนวดวนเป็นวงกลมพร้อมกันหรือทีละข้าง ข้างละ 36 ครั้ง ช่วยลดอาการคัดจมูก เสริมภูมิคุ้มกัน เพิ่มระบบไหลเวียนเลือดบริเวณรอบจมูก หากนวดเป็นประจำจะช่วยป้องกันโรคหวัดได้ 2) จุดเลี่ยเชฺวีย อยู่ที่ข้อมือทั้ง 2 ข้าง ตรงรอยบุ๋มที่ข้อมือด้านนิ้วหัวแม่มือ เหนือรอยเส้นพับข้อมือ 2 นิ้วทาบ (นิ้วชี้และนิ้วกลาง) กดโดยใช้ปลายนิ้วที่ถนัดฝั่งตรงข้าม กดจนรู้สึกตึงหน่วง ประมาณข้างละ 10 วินาที จะช่วยทะลวงลมปราณปอด ขับปัจจัยก่อโรคออกจากระบบทางเดินหายใจ ช่วยลดอาการไอ หอบ เจ็บคอ 3) จุดเหอกู่ อยู่บริเวณเนินง่ามนิ้วมือระหว่างนิ้วโป้งและนิ้วชี้ทั้ง 2 ข้าง ใช้นิ้วที่ถนัดฝั่งตรงข้าม กดจนรู้สึกตึงหน่วงประมาณ 10-20 วินาทีต่อครั้ง จากนั้นสลับข้างกดไปมา ให้ได้ข้างละ 3-5 ครั้ง จะช่วยกระจายชี่ปอด ปรับสมดุลการไหลเวียนลมปราณ บำรุงปอด ขจัดเสมหะ
หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับศาสตร์การแพทย์แผนไทย และสมุนไพร สามารถขอคำปรึกษา จากแพทย์แผนไทยในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐทั่วประเทศ หรือติดต่อโดยตรง ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หมายเลขโทรศัพท์ 0 2149 5678 หรือช่องทางออนไลน์ที่เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/dtam.moph และ ไลน์แอดกรมการแพทย์ แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก line @DTAM