ปลัด พม. นำทีม ลุยปฏิบัติการ “สร้างโอกาส จากราชดำเนิน” สำรวจข้อมูลคนไร้บ้าน พร้อมช่วยกลับสู่ครอบครัว ชุมชน
วันที่ 20 ธันวาคม 2567 นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทราวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เปิดเผยว่า กระทรวง พม. โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมปฏิบัติการ “สร้างโอกาส จากราชดำเนิน” ลงพื้นที่ราชดำเนิน ช่วยเหลือคนไร้บ้าน โดยมีแผนการลงพื้นที่ปฏิบัติการ จำนวน 5 ครั้ง ในเดือนธันวาคม 2567 เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค. 67 ถึง 24 ธ.ค. 67 และแบ่งเป็น 3 ทีม ลงพื้นที่ปฏิบัติการ จำนวน 3 จุด ได้แก่ 1) ถนนราชดำเนิน (หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา) ถึงถนนนางเลิ้ง 2) เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า และเจดีย์ขาว และ 3) ถนนราชดำเนิน (อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา) ซึ่งเมื่อวานนี้ (19 ธ.ค. 67) ตน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กระทรวง พม. ลงพื้นที่ปฏิบัติการบริเวณถนนราชดำเนิน เพื่อสอบถามข้อมูลและให้การช่วยเหลือคนไร้บ้าน เพื่อให้สามารถเข้าถึงโอกาสและสิทธิสวัสดิการของรัฐ รวมถึงการเข้ารับการคุ้มครองตามสิทธิ ซึ่งข้อมูลคนไร้บ้าน จะนำไปใช้ในการติดตามการช่วยเหลือ โดยทีม พม.หนึ่งเดียวจังหวัดและศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดทั่วประเทศ และวางแผนร่วมกับครอบครัวตามภูมิลำเนาของแต่ละคน
นายอนุกูล กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ปฏิบัติการ “สร้างโอกาส จากราชดำเนิน” ครั้งนี้ มีคนไร้บ้านเป็นชาย จำนวน 7 ราย ที่ประสงค์เข้ารับการคุ้มครอง โดยได้พาไปยังศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพมหานคร เพื่อวางแผนให้การช่วยเหลือ ทั้งนี้ จะดำเนินการประสานศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดตามภูมิลำเนา เพื่อลงพื้นที่เยี่ยมบ้านและวางแผนการช่วยเหลือร่วมกับครอบครัว สำหรับการลงพื้นที่ปฏิบัติการครั้งต่อไปนั้น จะเป็นวันที่ 24 ธ.ค. 67 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายของเดือนธันวาคม และจะมีการสรุปผลการลงพื้นที่ปฏิบัติการประจำเดือนต่อไป
นายอนุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับปัญหาของคนไร้ที่พึ่ง คนไร้บ้าน ในชุมชนเมือง นับว่าเป็นปลายทางของโครงสร้างสวัสดิการสังคม ไม่ว่าจะเป็นการไม่เข้าถึงสิทธิสวัสดิการที่จำเป็น ผลกระทบทางเศรษฐกิจ และการเข้าสู่สังคมสูงวัย ทำให้ครัวเรือนเปราะบางไม่สามารถเกื้อกูลดูแลผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงได้ ทำให้หลุดออกจากครอบครัว ชุมชน และออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ทั้งนี้ กระทรวง พม. ได้ให้ความสำคัญในการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง คนไร้บ้าน ที่ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ด้วยการจัดบริการสวัสดิการเชิงรุก ไม่ว่าจะเป็น สิทธิสวัสดิการขั้นพื้นฐาน การจัดหางาน การให้คำปรึกษาแนะนำ การดูแลสุขภาพกายและจิตใจ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เป็นต้น เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี และสามารถกลับสู่ครอบครัว ชุมชน ได้ในที่สุด