ดื้อไม่ได้แล้วนะ!! “โรม” ชี้ กม.ติดดาบให้กมธ.เรียกคน-เอกสาร มาแจง ผ่านสภาฯแล้ว

112

ที่กรุงเทพมหานคร วันที่ 18 ธ.ค. นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุคชื่อบัญชี Rangsiman Rome – รังสิมันต์ โรม ว่า วันนี้ร่างพระราชบัญญัติอำนาจเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ได้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ซึ่งสาระสำคัญของการเสนอกฎหมายฉบับนี้ เปรียบเสมือนการติดอาวุธเพื่อให้กรรมาธิการสามารถเรียกบุคคล เอกสาร มาตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นที่ตั้งข้อสงสัย หรือมีปัญหาการทำงานที่ไม่โปร่งใส ทำงาน ไม่ตรงไปตรงมาได้

ที่ผ่านมากรรมาธิการ มีบทบาทคอยช่วยเหลือภารกิจสำคัญทางนิติบัญญัติของรัฐสภาไม่ว่าจะเป็นการตราตัวบทกฎหมาย การตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร พิจารณางบประมาณแผ่นดิน รวมตลอดถึงการแก้ไขเยียวยาปัญหาของประชาชนในฐานะผู้แทนราษฎรอันเป็นการสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย

“การนำเสนอร่าง พรบ. ในวันนี้ ต้องเน้นย้ำว่าจริง ๆ แล้วเรามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องในทำนองเดียวกันอยู่แล้ว แต่ในสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้วได้มีการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และมีการวินิจฉัย กำหนดความผิดอาญาในบางมาตราว่าเป็นกฎหมายที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ การทำงานของกรรมาธิการฯ จึงประสบปัญหาและอุปสรรคในการรวบรวมข้อมูลและจะทำข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลได้ยาก จึงได้มีการจัดทำร่างกฎหมายเพื่อปรับปรุงหลักการในการเรียกของคณะกรรมาธิการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้น กฎหมายฉบับนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้การทำหน้าที่ของกรรมาธิการออกมาดีที่สุด และเป็นการส่งเสริมให้ระบบคณะกรรมาธิการที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ต่อไปครับ” สส.พรรคประชาชน ระบุ

สำหรับสาระสำคัญของ พรบ.อำนาจเรียกของกมธ.ฯ ได้แก่มาตรา 14 ที่ระบุว่า “ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดไม่ส่งเอกสารหรือไม่มาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นตามที่คณะกรรมาธิการเรียกตามมาตรา 7 หรือมาตรา 8 โดยไม่มีเหตุอันสำควรให้ประธานคณะกรรมาธิการ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมาธิการ มีหนังสือแจ้งไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป และแจ้งให้ประธานสภาฯ ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณีทราบด้วย ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนรายงานผลการดำเนินการต่อคณะกรรมาธิการภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีการดำเนินการเสร็จสิ้น”

มาตรา 14/1 ซึ่งเป็นมาตราเพิ่มขึ้นใหม่ เกี่ยวกับโทษ ในกรณีที่บุคคลที่ประกอบอาชีพหรือกิจการในภาคเอกชน ซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ปฏิบัติตามหนังสือเรียก ไม่ส่งเอกสาร ไม่มาแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความเห็นต่อกรรมาธิการ โดยไม่มีเหตผลอันสมควร ให้ถือเป็นความผิดทางพินัยต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกิน 1 หมื่นบาทและให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภาเป็นผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัย ให้ประธานรัฐสภาออกระเบียบเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดค่าปรับเป็นพินัยและการผ่อนชำระเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายว่าด้วยการปรับเป็นพินัย