ที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) วันที่ 9 ธันวาคม 2567 นายประดิษฐ์ เฟื่องฟู รองผู้ว่า และโฆษก กฟภ. นำทีมชี้แจงถึงกรณีที่มีข่าววว่าเครือข่ายยาเสพติดในประเทศใกล้เคียงใช้ไฟฟ้าจากประเทศไทยที่จ่ายกระแสไฟฟ้าโดย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) บริเวณอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และเครือข่ายดังกล่าวยังใช้บัญชีม้าจำนวนมาก มาใช้ชำระค่าไฟฟ้าตามสัญญาการซื้อขายของบริษัทเอกชนในประเทศไทยกับ PEA ซึ่งผิดวิสัยการชำระหนี้กับหน่วยงาน โดยรองผู้ว่ากฟภ. ระบุว่าการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ณ จุดซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2565 – ปัจจุบัน มีบริษัท Allure Group (P&E) จำกัด เป็นคู่สัญญา ได้รับสิทธิสัมปทานการซื้อขายไฟฟ้า จากรัฐบาลของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และผ่านการตรวจสอบจากกระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานความมั่นคงของไทยแล้ว ก่อนจะส่งไฟฟ้าต่อไปยังคณะกรรมการการไฟฟ้าเมืองท่าขี้เหล็กเป็นผู้จำหน่ายให้ประชาชนในพื้นที่ สถานศึกษา ศาสนสถาน และสาธารณสุข
นายประดิษฐ์กล่าวว่า ในส่วนของการชำระเงิน บริษัท Allure Group (P&E) จำกัด ชำระเงินผ่านเช็คสั่งจ่ายเป็นค่าไฟฟ้าตามใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าของ PEA มาโดยตลอด แต่ในช่วงเกิดโรคระบาดโควิด-19 มีการปิดด่านข้ามแดนอำเภอแม่สาย – เมืองท่าขี้เหล็ก ทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถนำเช็คมาจ่ายให้ PEA ได้ โดยบริษัทฯ แจ้ง PEA ว่า จะขอชำระโดยวิธีโอนผ่านธนาคาร แต่เนื่องจากธนาคารของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมามีข้อจำกัดในการโอน บริษัทฯ จึงใช้บริการจากบริษัทรับแลกเปลี่ยนเงินตราเอกชน โดยบริษัทรับแลกเปลี่ยนเงินตราเอกชนดังกล่าวได้โอนเงินผ่านบัญชีหลายบัญชี เพื่อให้ได้วงเงินตามใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าของ PEA ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติตามปกติของธุรกิจในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ทำให้เป็นที่มาของ การตรวจสอบหาข้อเท็จจริงของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ว่ามีการโอนเงินผ่านบัญชีม้าที่เกี่ยวพันกับยาเสพติด ซึ่งปัจจุบันศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง บริษัท Allure Group (P&E) จำกัด ในคดีดำที่ ย1249/2565 และคดีแดงที่ ย84/2567
โฆษก กฟภ. กล่าวว่า ต่อมาเมื่อมีการเปิดด่านอำเภอแม่สาย – เมืองท่าขี้เหล็ก บริษัทฯ มอบอำนาจให้คณะกรรมการการไฟฟ้าท่าขี้เหล็ก ซึ่งเป็นตัวแทนรัฐบาลของเมืองท่าขี้เหล็ก สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ให้เป็นผู้ชำระค่าไฟฟ้าแทน โดยคณะกรรมการไฟฟ้าท่าขี้เหล็ก ชำระเงินผ่านการประสานงานคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น ไทย – พม่า เพื่อ ฝากเข้าบัญชีการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอแม่สาย ซึ่งผ่านการตรวจสอบจากด่านศุลกากรแล้ว เนื่องจากยังมีหลักประกัน การใช้ไฟฟ้าครอบคลุมวงเงินค่าไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ทั้งนี้ การขายไฟฟ้าไปยังประเทศใกล้เคียงเป็นรูปแบบภาครัฐต่อภาครัฐ (G to G) ซึ่ง PEA จะทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้เพียงกับหน่วยงานภาครัฐ หรือนิติบุคคลที่ได้รับสัมปทานอนุญาตการซื้อขายไฟฟ้าจากหน่วยงานภาครัฐที่มีอำนาจแล้วเท่านั้น
ทั้งนี้ PEA พร้อมดำเนินการงดจ่ายกระแสไฟฟ้า หากตรวจพบการกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบ ความมั่นคง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รองผู้ว่ากฟภ.ยืนยัน
สำหรับบริษัท Allure Group P&E จากรายงานของบีบีซีไทย ระบุว่า P&E ย่อมาจาก Power and Electricity จดทะเบียนในไทยเมื่อปี 2563 เพื่อซื้อขายไฟฟ้าระหว่างการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคของไทยกับการไฟฟ้าเมียนมาที่ท่าขี้เหล็ก โดยข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ นายตุน มิน ลัต หรือ นายทุน มิน หลัด ถือหุ้น 49% ส่วนที่เหลือ 51% เป็นของผู้ถือหุ้นชาวไทย โดยบุตรชายของนายตุน มิน ลัต คือนายดีน ยัง จุลธุระ แต่งงานกับลูกสาวของนายอุปกิต ปาจรียางกูร อดีตสมาชิกวุฒิสภาคนดัง ขณะที่นายตุนถูกกล่าวหาว่าเป็นนายหน้าค้าอาวุธและใกล้ชิดกับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา
ต่อมารัฐบาลไทยโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และตำรวจ ได้จับกุมนายตุน มิน ลัตในข้อหายาเสพติด และอายัด-ยึดทรัพย์สินรวมของเครือข่าย เป็นมูลค่ารวม 1,858 ล้านบาท อย่างไรก็ตามเมื่อต้นปีที่ผ่านมาศาลอาญาได้สั่งยกฟ้องนายตุน มิน ลัต นายดีน ยัง จุลธุระ บริษัท Allure พร้อมพวกให้พ้นผิดจากคดียาเสพติด
สำหรับธุรกิจเครือ Allure ประกอบไปด้วย Myanmar Allure Group จดทะเบียนในเมียนมา เมื่อ 15 พ.ค. 2543 ประกอบธุรกิจ: สันทนาการ กีฬา การพนัน เครื่องดื่มและอาหาร ต่อมานายอุปกิตขายให้นายชาคริส กาจกำจรเดช
Allure Group จดทะเบียนในไทย เมื่อ 8 มี.ค. 2549 ประกอบธุรกิจ: ขนส่งคนและสินค้า ต่อมานายอุปกิตขายให้นายพันณรงค์ ขุนพิทักษ์
Allure Group P&E จดทะเบียนในไทย เมื่อ 21 ต.ค. 2563 ประกอบธุรกิจ: ผลิตและขนส่งไฟฟ้า นายตุน มิน ลัต ถือหุ้น 49% และอีก 51% ถือหุ้นโดยคนไทย