หน้าแรกการเมืองSCB FM มองเงินบาททรงตัวช่วงสิ้นปีนี้ แต่อาจอ่อนค่าในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า ก่อนที่จะกลับมาแข็งค่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2025

SCB FM มองเงินบาททรงตัวช่วงสิ้นปีนี้ แต่อาจอ่อนค่าในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า ก่อนที่จะกลับมาแข็งค่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2025

กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Financial Markets: SCB FM) เปิดเผยว่า การอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงที่เหลือของปีนี้จะไม่มากนัก เพราะมองว่าปัจจัย Trump trade ได้ทยอยหมดไปแล้ว สำหรับปี 2025 มองว่าเงินบาทอาจยังอ่อนค่าต่อในช่วงครึ่งแรกของปีเนื่องจาก เศรษฐกิจสหรัฐน่าจะยังแข็งแกร่ง ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปอาจฟื้นช้าทำให้เงินยูโรอ่อน นอกจากนี้ มาตรการ Tariffs จะทำให้การค้าโลกชะลอ กระทบเศรษฐกิจในภูมิภาคทำให้ค่าเงินอ่อน อย่างไรก็ดี SCB FM มองว่าเงินบาทอาจกลับมาแข็งค่าได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2025 โดยมองว่าการลดดอกเบี้ยของ Fed ราคาน้ำมันโลกที่มีแนวโน้มลดลง ราคาทองคำที่อาจสูงขึ้น และเงินทุนเคลื่อนย้ายที่อาจไหลกลับเข้า EM ช่วงปลายปี อาจช่วยให้เงินบาทแข็งค่าได้ โดยมองกรอบปลายปีที่ราว33.50-34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ สำหรับมุมมองอัตราดอกเบี้ยไทย SCB FM คาดว่า กนง. อาจลดดอกเบี้ยอีกเพียง 1 ครั้ง ในการประชุมแรกเดือน ก.พ. ปีหน้า ตามสถานการณ์สินเชื่อในไทยที่ปรับแย่ลงต่อเนื่อง รวมทั้งเศรษฐกิจไทยที่มีความเสี่ยงด้านลบมากขึ้นจากนโยบาย Trump 2.0

นายแพททริก ปูเลีย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า แม้เงินบาทในเดือนที่ผ่านมาอ่อนค่าเร็วกว่าช่วงหลังเลือกตั้งสหรัฐฯ ปี 2016 ที่ Trump ชนะเช่นกัน แต่ SCB FM มองว่าปัจจัยเรื่อง Trump trade ล่าสุดได้จบไปแล้ว ทำให้การอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงที่เหลือของปีนี้จะไม่มากนัก สะท้อนจาก 1) เงินบาทเริ่มกลับมาแข็งค่าได้บ้าง หลังเลขเศรษฐกิจไทยออกมาดีกว่าคาด เช่น GDP ไตรมาส 3 และเลขการส่งออก 2) การแต่งตั้ง Scott Bessent เป็น รมว.คลังสหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนเชื่อว่านโยบายของ Trump จะไม่แข็งกร้าวมาก Treasury yields จึงปรับลดลงเร็ว และเงินดอลลาร์อ่อนค่า และ 3) ตลาดเริ่มชินกับการประกาศ Tariffs ของ Trump มากขึ้น โดยล่าสุด Trump ประกาศเตรียมขึ้น Tariffs จีน แคนาดา เม็กซิโก และกลุ่ม BRICS ทำให้เงินภูมิภาครวมถึงบาทอ่อนค่า แต่การอ่อนค่ายังน้อยกว่าการประกาศครั้งก่อน ๆ และน้อยกว่าในปี 2017 (Trump 1.0) ด้วยเหตุนี้ จึงมองว่า เงินบาทจะยังผันผวนสูงแต่ไม่อ่อนค่ามาก โดยอาจอยู่ที่กรอบราว 34.00-35.00 ในช่วงที่เหลือของปีนี้

เงินบาทอาจอ่อนค่าต่อช่วงครึ่งแรกของปี 2025 แต่อาจกลับมาแข็งค่าได้ช่วงครึ่งปีหลัง โดยปัจจัยหลักที่จะทำให้เงินบาทอ่อนค่าต่อได้คือ 1) เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งแกร่งกว่าเศรษฐกิจหลักอื่น ๆ โดยเฉพาะยุโรป ทำให้เงินดอลลาร์จะยังแข็งค่า และเงินยูโรอาจยังอ่อนค่าต่อได้ 2) การขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ จะกดดันให้เงินภูมิภาคอ่อนค่าต่อเนื่อง โดยเฉพาะเงินหยวนที่อาจอ่อนค่าเร็วเพราะ Trump อาจใช้ Executive orders เพื่อขึ้น Tariffs ต่อจีนได้เร็ว และ 3) การกีดกันทางการค้าที่น่าจะมีมากขึ้นอาจทำให้การค้าโลกชะลอลง กดดันเศรษฐกิจไทยและคู่ค้าสำคัญ ทำให้เงินบาทอ่อน โดยนายแพททริกมองว่า ในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า เงินบาทอาจอ่อนค่าแตะระดับ 35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ สำหรับเงินทุนเคลื่อนย้ายในช่วงที่เหลือของปี อาจยังไหลออกต่อได้จากความไม่แน่นอนที่ยังมีอยู่มาก และเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังแข็งแกร่งทำให้เงินยังไหลเข้าสหรัฐฯ โดยข้อมูลล่าสุดขี้ว่าเงินทุนเคลื่อนย้ายกลับไปไหลออกในช่วงไตรมาสที่ 4 ปีนี้ แม้ว่าจะเริ่มไหลเข้าตลาดหุ้นและตลาดบอนด์ไทยในไตรมาสที่ 3 ก็ตาม

ในระยะยาว มองว่าเงินบาทอาจกลับมาแข็งค่าได้ โดยมองกรอบปลายปีที่ราว 33.50-34.50 ซึ่งการแข็งค่าของเงินบาทอาจเป็นผลจาก 1) การลดดอกเบี้ยของ Fed โดยนายแพททริกมองว่า Fed จะลดดอกเบี้ย 2-3 ครั้งในปี 2025 ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (Treasury yields) ลดลง และดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าได้ 2) รัฐบาลสหรัฐมีแนวโน้มขาดดุลการคลังมากขึ้น จากการลดภาษีและการใช้จ่ายที่มากขึ้น ซึ่งจะทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐอาจอ่อนค่า 3) เงินทุนเคลื่อนย้ายอาจไหลกลับเข้า EM รวมถึงตลาดเอเชียและไทย 4) ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มลดลงในปี 2025 ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดไทยอาจสูงขึ้น และ 5) ราคาทองคำอาจปรับสูงขึ้นจากแนวโน้มอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลโลกที่อาจลดลง ซึ่งราคาทองที่สูงขึ้นจะช่วยดันให้เงินบาทแข็งค่าได้

นายวชิรวัฒน์ บานชื่น นักกลยุทธ์ตลาดการเงินอาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า การอ่อนค่าของเงินบาทในระยะข้างหน้าจะสอดคล้องกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค เช่น เงินหยวน และเงินเยน โดยมองว่าเงินหยวนอาจอ่อนค่าต่อในปีหน้า จาก 1) เศรษฐกิจจีนน่าจะชะลอลงต่อ และมาตรการรัฐอาจมีจำกัด 2) ธนาคารกลางจีน (PBOC) มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยต่อ ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยจะยังกว้าง นอกจากนี้ เงินหยวนจะได้รับผลกระทบจากมาตรการ Tariffs มากที่สุด แต่คาดว่า Market reaction อาจน้อยกว่าสมัย Trump 1.0 เนื่องจากนักลงทุนเริ่มเคยชินกับภาษี ทำให้ความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย (Flight to quality flows) อาจน้อยลง 3) ทางการจีนอาจปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่า เพื่อเป็น Cushion ต่อการส่งออกที่แย่ลง สำหรับมุมมองเงินเยน นายวชิรวัฒน์มองว่า เงินเยนอาจยังเคลื่อนไหว Sideways ในปีนี้ เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะยังแข็งแกร่ง ทำให้ดอลลาร์ยังแข็งเทียบกับเยน แต่ในปีหน้าคาดว่า เงินเยนจะทยอยแข็งค่าเทียบต่อดอลลาร์สหรัฐ จากแรงกดดันเงินเฟ้อที่จะยังอยู่สูงตามค่าแรงญี่ปุ่น ซึ่งจะทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะสามารถขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ ทั้งนี้ ยังต้องจับตาการ Unwind carry trade ที่อาจทำให้เยนแข็งค่าเร็วกว่าคาด

ความผันผวนในระยะต่อไปอาจสูงขึ้น และแนวโน้ม Trade protectionism จากทางสหรัฐฯ อาจทำให้การใช้เงินหยวนกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง โดยเงินทุนเคลื่อนย้ายและเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ จะได้รับอิทธิพลจากนโยบายของ Trump ซึ่งมักจะโพสต์ผ่าน Social media จึงมองว่าการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนผ่านการทำธุรกรรม Forward และการหันมาใช้สกุลเงินภูมิภาค เช่น เงินหยวน หรือเงินเยน จะมีความสำคัญมากขึ้น โดยล่าสุดพบว่า สัดส่วนการใช้เงินหยวนผ่านระบบ Swift ปรับเพิ่มขึ้นเร็วในปี 2023 หลังจีนหันมาเน้นการค้าขายในภูมิภาคมากขึ้น และเงินหยวนอ่อนค่าในช่วงดังกล่าวทำให้ผู้ขายได้ประโยชน์มากขึ้น

สำหรับมุมมองอัตราดอกเบี้ยไทย ตลาดมองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะลดดอกเบี้ยในการประชุมแรกของปีหน้า (เดือนกุมภาพันธ์)และตลาดมองว่าจะมีการลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในช่วงกลางปี 2025 ทำให้ Terminal rate จะลงไปที่ราว 1.75% อย่างไรก็ดี นายวชิรวัฒน์มองว่า กนง. อาจลดดอกเบี้ยอีกเพียง 1 ครั้ง ในการประชุมแรกเดือน ก.พ. ปีหน้า ตามสถานการณ์สินเชื่อที่ปรับแย่ลงต่อเนื่อง รวมทั้งเศรษฐกิจไทยที่มีความเสี่ยงด้านลบมากขึ้นจากนโยบาย Trump 2.0

RELATED ARTICLES
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img