ที่ราชบุรี วันที่ 4 ธันวาคม นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม และ สส.ราชบุรี เขต 4 พรรครวมไทยสร้างชาติ เปิดเผยว่า เช้าวันนี้ตนในฐานะประธานกมธ.อุตฯ ได้รับเกียรติให้เป็นประธานปิดโครงการ “บ้านโป่งโมเดล” ซึ่งเป็นโครงการจัดระเบียบสายสื่อสารลงใต้ดิน เพื่อสร้างทัศนียภาพให้กับเมืองบ้านโป่ง ที่ตนได้ผลักดันอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 จากการเสนอญัตติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาการจัดระเบียบสายสื่อสาร ได้ข้อสรุปว่า การนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดินทั้ง 2 ประเภท จะมีต้นทุนในการดำเนินการ 80 ล้านบาทต่อกิโลเมตร เมื่อได้ศึกษาข้อมูลแล้วในกรณีที่นำสายสื่อสารลงใต้ดินเพียงอย่างเดียวจะมีต้นทุนในการดำเนินการเพียง 8 ล้านบาทต่อกิโลเมตร
นายอัครเดช กล่าวว่า การนำสายสื่อสารลงใต้ดินเพียงอย่างเดียวนั้น เกิดจากข้อสังเกตว่าสิ่งที่ทำให้เกิดความไม่เป็นระเบียบในเสาไฟฟ้า ที่ทำให้บดบังทัศนียภาพ และอาจจะเกิดอันตรายนั้นเกิดจากการพาดสายสื่อสาร ไม่ได้เกิดจากสายไฟฟ้าแต่อย่างใด ดังนั้น กมธ. จึงมีข้อสรุปให้นำสายสื่อสารลงดินแทนเพื่อประหยัดงบประมาณในการดำเนินการ แทนการนำสายทั้ง 2 อย่างลงใต้ดินพร้อมกันเพียงอย่างเดียวเพราะเป็นวิธีที่ดีที่สุดเนื่องจากประหยัดงบประมาณ เป็นจำนวนมาก ในการจัดระเบียบสายสัญญาณและสายไฟฟ้าบนเสาไฟฟ้า เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เป็นระเบียบบนเสาไฟฟ้าตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา
นายอัครเดชกล่าวว่า หลังจากได้ข้อสรุปในรายงานฉบับดังกล่าวแล้ว ในฐานะสส.เขตบ้านโป่ง จึงได้ทำกระทู้ถึง รมว.ดีอี ให้นำสายสื่อสารลงใต้ดิน โดยไม่ต้องนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินในพื้นที่อำเภอบ้านโป่ง ในระหว่างการดำเนินการมีการพบปัญหาและอุปสรรคพอสมควรจึงต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการโครงการถึง 4 ปี และวันนี้โครงการดังกล่าวได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (NT), คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), สมาคมผู้ประกอบการผู้ให้บริการสัญญาณและสายสื่อสารอินเตอร์เนต และเทศบาลเมืองบ้านโป่ง จึงได้ร่วมกันดำเนินการพิธีปิดโครงการ “บ้านโป่งโมเดล” เพื่อเป็นการประกาศถึงความสำเร็จอันน่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง
สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติกล่าวว่า หวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการบ้านโป่งโมเดล จะสามารถเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาสายสื่อสารไม่เป็นระเบียบให้แก่พื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทยได้ในอนาคต โดยรัฐบาลจะได้นำโครงการบ้านโป่งโมเดลไปเป็นต้นแบบให้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเช่นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรัฐวิสาหกิจต่างๆเป็นต้นได้ใช้โครงการบ้านโป่งโมเดลในการจัดระเบียบสายสัญญาณและสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า เพื่อประหยัดงบประมาณและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศอีกทั้งยังลดอุบัติเหตุและอันตรายให้กับพี่น้องประชาชนที่เกิดจากสายสื่อสารและสายสัญญาณไม่เป็นระเบียบบนเสาไฟฟ้าอีกด้วย