ธีระชัย-กรกสิวัฒน์ ชี้ MOU ปี 2544 เป็นโมฆะ ฟาดรัฐบาลทำขั้นตอนผิด เสี่ยงเสียดินแดน แย้ง “สุรเกียรติ์” บรรยายคลาดเคลื่อน

275

ที่พรรคพลังประชารัฐ วันที่ 29 พฤศจิกายน นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานด้านวิชาการ พร้อมด้วย ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี กรรมการบริหารพรรค ร่วมแถลงถึงกรณีปัญหา การลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วม (MOU ) เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2544 ลงนามโดยนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทยในขณะนั้น กับ นายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาในขณะนั้น โดยนายธีระชัยระบุว่าว่า เนื่องจากทั้ง  ฝ่ายออกแถลงการณ์ร่วมโดยมีข้อความรับรอง MOU จึงทำให้ MOU มีสถานะเป็นสนธิสัญญาครบตามเงื่อนไขของอนุสัญญากรุงเวียนนาฯ นอกจากนี้ ยังมีเอกสารวิชาการที่ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทยยืนยันว่า MOU เป็นสนธิสัญญาอีกด้วย

นายธีระชัยเห็นว่า MOU เป็นสนธิสัญญาที่กระทบเขตอำนาจแห่งรัฐ เพราะมีการกำหนดพื้นที่พัฒนาร่วมเป็นอาณาเขตเฉพาะที่เปลี่ยนแปลงเขตไหล่ทวีปของไทยตามที่ประกาศเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2516 แต่ไม่ได้เสนอต่อรัฐสภา และไม่ได้ทูลเกล้าฯต่อพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ 2540 จึงเป็นโมฆะตั้งแต่ต้น

นายธีระชัยกล่าวว่าประชาชนสงสัยมีข้อพิรุธสำคัญ ทำไมรัฐบาลในปี 2544 จึงทำขั้นตอนกลับทางจากกรณี ไทย-มาเลเซียที่การกำหนดอาณาเขตพื้นที่พัฒนาร่วมเป็นผลสุดท้ายจากการเจรจา แต่ MOU กลับไปให้กำเนิดอาณาเขตพื้นที่พัฒนาร่วมตั้งแต่ต้นอันเป็นกรอบที่บีบการเจรจา ทั้งที่จะทำให้ไทยเสี่ยงเสียดินแดน ประชาชนจึงกังวลว่า MOU ที่ไม่เจรจาอาณาเขตพื้นที่พัฒนาร่วมให้เสร็จเสียก่อน น่าสงสัยว่ามีประโยชน์ซ่อนเร้น นอกจากนี้ น่าสงสัยว่าเหตุผลแท้จริงของแถลงการณ์ร่วมนั้นอาจเพื่อมุ่งเรื่องปิโตรเลียมเป็นสำคัญ เพราะประเด็นอื่นในแถงการณ์ดังกล่าวมีการประสานกันปกติอยู่แล้ว

“ผมเองเคารพต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเห็นว่ารัฐมนตรีจากพรรคร่วมจะช่วยลดอุณหภูมิลงได้ โดยถ้าเห็นว่าเรื่องนี้ถูกต้อง ก็ควรเร่งให้รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศชี้แจงเหตุผลในทุกด้านให้ประชาชนคลายใจ เพราะประเด็นที่พรรคฝ่ายค้านยกขึ้นล้วนเป็นการอ้างข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงที่สามารถถกแถลงกันให้กระจ่างได้ แต่ถ้าเห็นว่าไม่ถูกต้อง ก็ต้องเร่งให้มีการแก้ไข” นายธีระชัยกล่าว

ด้าน ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวถึงกรณีที่ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย บรรยายเรื่อง MOU 44 เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 ว่ามีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนอยู่มากถึงสาเหตุของการเกิดพื้นที่ทับซ้อน โดยนายสุรเกียรติ์ กล่าวว่า “เนื่องจากกฎหมายทะเลสากลให้ทุกประเทศประกาศเขตเศรษฐกิจออกไปได้ 200 ไมล์ทะเล แต่อ่าวไทยมีความกว้างไม่ถึง 200 ไมล์ทะเล เมื่อไทยและกัมพูชาต่างฝ่ายต่างประกาศเขตเศรษฐกิจ 200 ไมล์ทะเล จึงทับซ้อนกัน”

ม.ล.กรกสิวัฒน์ ชี้ว่า ขณะที่ นายสุรเกียรติ์ เซ็นต์ MOU 44 กับกัมพูชานั้น  น่าจะเข้าใจกฎหมายทะเลสากลไม่ถูกต้องทั้ง เรื่องทะเลอาณาเขต และการลากเส้นเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเล ปรากฎตาม อนุสัญญาเจนีวา 1958 ข้อ 12 และอนุสัญญาสหประชาชาติ 1982 (UNCLOS3) ข้อ 15 ที่บัญญัติว่า “กรณีที่ฝั่งทะเลสองรัฐประชิดกัน ถ้าไม่ได้ตกลงเป็นอย่างอื่น รัฐใดย่อมไม่มีสิทธิขยายทะเลอาณาเลยเลยเส้นมัธยะ“

กรณีไทย-กัมพูชา เส้นมัธยะ คือ เส้นที่มีจุดเริ่มต้นจากหลักเขตที่ 73 สุดแดนจังหวัดตราดลากลงทะเล “แบ่งกึ่งกลางระหว่างเกาะกูด กับ เกาะกง” เพื่อความเป็นธรรมในการเดินเรือ ดังนั้น การขีดเส้น 200 ไมล์ทะเลจึงต้องลากต่อออกไปจากเส้นมัธยะนี้ มิใช่ดังที่ ดร.สุรเกียรติ์ อธิบายทำให้ผู้ฟังเข้าใจผิดได้ว่า ทุกประเทศมีสิทธิไปลากเส้นจากฝั่งทะเลไปทิศทางใดก็ได้ 200 ไมล์ ตามอำเภอใจแบบกัมพูชาทำ พื้นที่ทะเลรอบเกาะกูดของไทยจึงถูกกัมพูชาลากเส้นทับซ้อนตั้งแต่ชายฝั่งไปชนเกาะกูดซึ่งกรณีแบบนี้ไม่ปรากฏแบบนี้ที่ใดในโลก

นอกจากนี้ ท่านยังขาดข้อมูลเกี่ยวกับการเจรจาระหว่าง ไทย กับ มาเลเซีย พม่า และเวียตนาม ที่ประสบผลสำเร็จมีลำดับขั้นตอนดังนี้ 1) คณะรัฐมนตรีตั้งคณะเจรจาขึ้นก่อน 2) กรอบการเจรจา คือ กฎหมายทะเลสากล 3) ทำ MOU เพื่อบันทึกผลสำเร็จของการเจรจา 4) ประกาศพระบรมราชโองการ รองรับเส้นเขตแดนใหม่ที่เป็นผลของการเจรจา โดยทุกกรณีจะใช้กฎหมายทะเลสากลเป็นกรอบในการเจรจาทั้งสิ้น  ส่วน MOU จะเกิดขึ้นเป็นขั้นตอนเกือบสุดท้าย เพื่อบันทึกผลสำเร็จของการเจรจานั้นๆ

การเจรจาทุกประเทศมีเป้าหมายสำคัญสูงสุด คือ การกำหนดเส้นเขตแดนให้ถูกต้องเป็นอันดับแรก ไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์ปิโตรเลียม กรณีของไทย มาเลเซีย การพัฒนาร่วมเกิดขึ้นจากการเจรจาจนเหลือพื้นที่เล็กที่สุดแล้วยังตกลงไม่ได้ เรื่องเกาะโลซิน ทางมาเลเซียเห็นว่า มีบ่อน้ำมันอยู่ตรงกลางหากแบ่งพื้นที่คนละครึ่งจะมีปัญหาแย่งกันสูบน้ำมันจึงเสนอการพัฒนาร่วมกัน กรณี ไทย กัมพูชา จึงผิดแผกแตกต่างจากทุกกรณีที่เคยมีมา เรียกว่า เกิดขึ้นแบบย้อนเกล็ด คือ เกิด MOU ขึ้นก่อน แล้วอ้างว่า MOU เป็นกรอบการเจรจา และอาจขัดพระบรมราชโองการ เพราะนำเส้นเขตแดนทางทะเลที่ผิดกฎหมายสากลของกัมพูชามาใส่ไว้ในแผนที่แนบท้าย แม้จะเขียนไว้ในข้อ 5 ของ MOU ว่าไม่ได้ยอมรับเส้นของกัมพูชา แต่การรับรู้ถึงเส้นอ้างสิทธิที่ผิดกฏหมาย ก็ถือว่า ขัดกับหลักการเดิมโดยสิ้นเชิง

นอกจากนี้การที่นายสุรเกียรติ์ กล่าวถึงข้อดีของ MOU 44 ว่าเป็นครั้งแรกที่ตั้งคณะกรรมการเจรจา ไม่มีการเสียดินแดน ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวแย้งว่า ไม่ถูกต้อง เพราะเคยมีการเจรจามาแล้ว 3 ครั้ง ใน พ.ศ. 2513 พ.ศ. 2535 และพ.ศ. 2538 ไทยยึดกรอบกฎหมายสากลทางทะเลในการเจรจา กัมพูชาไม่ยอมปฏิบัติตามกฏหมายสากลจึงเจรจาไม่ได้ หากไทยอ่อนข้อให้กัมพูชาละเมิดกฎหมาย ไทยมีแต่จะเสียเปรียบ

เข่นเดียวกับประเด็นที่นายสุรเกียรติ์กล่าวว่าจะเจรจาผลประโยชน์อย่างเดียวไม่ได้ ต้องเจรจาเรื่องเส้นเขตแดนที่ทับซ้อนกันอยู่เป็น Indivisible Package ที่แบ่งแยกไม่ได้ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เห็นว่าข้อนี้อันตราย เพราะกัมพูชาจะยอมเจรจาเส้นเขตแดน 11 องศาเหนือบริเวณเกาะกูดทั้งที่ตามกฎหมายทะเลเป็นของไทยอยู่แล้ว ส่วนพื้นที่ใต้เส้น 11 องศาเหนือ ก็ขุดปิโตรเลียมไปพร้อมกัน แบ่งเงินค่าภาคหลวงกันคนละคนละครึ่ง หากทำเช่นนี้เมื่อใด ก็ตกลงหลุมพรางทันที กัมพูชาจะเอาหลักฐานการแบ่งค่าภาคหลวงซึ่งถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ขึ้นศาลโลกและแบ่งพื้นที่ใต้เส้น 11 องศาเหนือครึ่งหนึ่ง เรียกว่าเสียทั้งปิโตรเลียมเสียทั้งดินแดนไปพร้อมกันแบบ Indivisible Package เรียบร้อยโรงเรียนกัมพูชา!!!

ม.ล.กรกสิวัฒน์ยังโต้ นายสุรเกียรติ์ ที่อ้างว่า MOU จะไม่กระทบต่อการอ้างสิทธิของไทยและกัมพูชา หากการเจรจาล้มเหลว โดยระบุว่าไทยเสียเหลี่ยมให้กัมพูชา เพราะเส้นเขตแดนทางทะเลของกัมพูชานั้นนำไปอ้างที่ไหนในโลกไม่ได้เพราะผิดกฎหมายสากล แต่กลับปรากฏขึ้นในเอกสารราชการไทยที่ลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศและนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยนำมาลงนามในแถลงการณ์ร่วม ก็จะกลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้กัมพูชานำมาอ้างในอนาคตได้เช่นกัน

ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านอาจารย์ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ทำเรื่องนี้ด้วยความสุจริตใจ และหวังดีต่อชาติบ้านเมือง แต่ข้าราชการบางคนกลับให้ข้อมูลท่านไม่ถูกต้องในการตัดสินใจ ผมกราบขออภัยท่านอาจารย์เป็นอย่างสูงที่จำเป็นต้องโต้แย้ง เพราะ หากให้ MOU 2544 เดินหน้าต่อไปจะ เป็นเรื่องอันตรายต่อบ้านเมืองในอนาคต”

#Thaitabloid #ไทยแทบลอยด์ #พปชร #MOU2544