ที่ โรงแรมริทซ์ คาร์ลตัน วันแบงคอก กรุงเทพฯ วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน 2567 เวลา 12.40 น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ร่วมสนทนาแบบสองต่อสองกับนางสาวมอร์รา ฟอร์บส์ (Moira Forbes) รองประธานบริหาร Forbes Media และประธานและผู้จัดพิมพ์ ForbesWomen ในงาน Forbes Global CEO Conference ครั้งที่ 22 ถึงประเด็นที่อยู่ในความสนใจระดับโลกหลากหลายประเด็น โดยมีผู้บริหารภาคเอกชน ผู้ประกอบการ นักลงทุนชั้นนำของโลกกว่า 400 ราย เข้าร่วมงาน
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงความมุ่งมั่นของไทยที่เน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการเสริมสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยมาตรการระยะสั้น กลาง และยาว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจและการเดินทาง เสริมสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมหลัก เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล การเชื่อมโยง การปรับโครงสร้างหนี้ของครัวเรือนและ SME โดยล่าสุด Amazon, Google และ Microsoft ได้ประกาศการลงทุนครั้งใหญ่ในด้านโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์และ AI ใน ประเทศไทย รวมถึงศูนย์ข้อมูล (Data Center) โดยรัฐบาลพร้อมผลักดันนโยบายและมาตรการ เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินการ
นอกจากนี้ ประเทศไทยพร้อมที่จะเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ โดยมีที่ตั้งที่สำคัญ ที่จะเอื้ออำนวยในการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน ทำให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างกัน และด้วยความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ความเข้มแข็งรวมถึงความมั่นคงทางอาหารของประเทศ food security และมีบุคลากรที่มีความสามารถ เป็นรากฐานที่ทำให้ประเทศไทยเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งต่อการเติบโตในระยะยาวในภูมิภาค อีกทั้งประเทศไทยยังมีความเป็นกลางและยืดหยุ่นที่ได้รับความเชื่อมั่นในการลงทุนจากนักธุรกิจทั่วโลก
น.ส.แพทองธาร กล่าวอีกว่า “ที่ผ่านมาประเทศไทยประสบความสำเร็จในการเป็นจุดหมายปลายทางที่ดึงดูดการลงทุนจากบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ระดับโลก เช่น Amazon, Google และ Microsoft โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ BOI ได้อำนวยความสะดวกด้านการลงทุนอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีการลงทุนมูลค่าสูงในโครงการด้านการศึกษาและการฝึกอบรม เพื่อพัฒนากลุ่มคนที่มีทักษะ นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการเสริมสร้าง soft power ที่คนไทยมีทักษะฝีมือ craftsmanship ที่เป็นเลิศ โดยเฉพาะวัฒนธรรมที่ยาวนานของประเทศไทย โดยรัฐบาลมีวิสัยทัศน์ในการนำมรดกวัฒนธรรมอันทรงคุณค่ามาสร้างสรรค์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ผ่านการยกระดับทักษะและการปรับทักษะใหม่ รวมทั้งการส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยในต่างประเทศผ่านนโยบายต่างประเทศเชิงรุก ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ใน 14 สาขา”
“ในด้านการค้าและการลงทุน ประเทศไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งสหรัฐอเมริกา และจีน โดยทำงานร่วมกันในธุรกิจที่สำคัญ เช่น อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เซมิคอนดักเตอร์ เศรษฐกิจดิจิทัล AI และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยรัฐบาลไทย มุ่งมั่นอย่างเต็มที่ที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ”
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า รัฐบาลมีวิสัยทัศน์ในการลงทุนในด้านการศึกษา การพัฒนาทักษะ และการดูแลสุขภาพ การสร้างเศรษฐกิจที่มีพลวัต เทคโนโลยีขั้นสูง และยั่งยืน ดึงดูดนักลงทุน และผู้ประกอบการจากทั่วทุกมุมโลก รวมถึงการเสริมสร้างซอฟต์พาวเวอร์ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง