ถือว่าเป็นความฉับไวของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร เมื่อ พล.ต.ท.ธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรงค์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผู้ช่วยผบ.ตร.) ปฏิบัติราชการแทนผบ.ตร.ลงนามในคำสั่งตร.ที่ 583/2567 เรื่องให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชการไว้ก่อน
ในคำสั่งระบุให้ พ.ต.ท. 1 นาย ร.ต.อ. 2 นาย ดาบตำรวจ 5 นายและจ.ส.ต. 1 นาย ออกจากราชการไว้ก่อน เพราะถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยร้ายแรง มีพฤติกรรมเรียกรับเงินจากนักธุรกิจต่างชาติ เพื่อแลกกับการไม่ถูกดำเนินคดีและถูกดำเนินคดีอาญา รวมถึงข้อหาเป็นเจ้าพนักงานร่วมกัน เรียกรับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองและผู้อื่นโดยมิชอบ และอีกหลายข้อหา
คดีดังกล่าวผู้เสียหายเข้าแจ้งความไว้ที่สน.ทุ่งสองห้อง วันที่ 16 ตุลาคม กล่าวหาว่าตำรวจทั้ง 9 นายและพลเรือนอีก 2 คน ร่วมกันเรียกรับเงินเพื่อแลกกับการไม่ดำเนินคดีเป็นเงินสูงถึง 300 ล้านบาท ผู้เสียหายแจ้งว่าไม่สามารถหาเงินได้ตามที่เรียกร้องและมีการเจรจาต่อรองหลายรอบ แต่ตกลงกันไม่ได้จึงแจ้งความดำเนินคดี
“ประดู่แดง”ไม่ขอลงรายละเอียดของคดีเพราะสื่อแต่สำนักนำเสนออย่างละเอียดแล้ว แต่อยากตั้งข้อสังเกตถึงสังกัดของตำรวจทั้ง 9 นาย ในคำสั่งระบุว่าสังกัดตำรวจภูธรภาค1และ 3 ตำรวจนครบาล ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจสอบสวนกลาง และตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือตำรวจไซเบอร์
เมื่อตรวจสอบประวัติรับราชการย้อนหลังทั้ง 9 นาย พบว่าเคยสังกัดตำรวจไซเบอร์ แล้วโยกย้ายไปหน่วยอื่น สาเหตุอาจจะมาจากเหตุผลส่วนตัว หรือย้ายไปรับตำแหน่งที่สูงขึ้นหรือถูกย้ายเพราะพฤติกรรมไม่เหมาะสม ดังนั้นการก่อเหตุครั้งนี้พออนุมานได้ว่าตำรวจทั้ง 9 นายน่าจะเป็นทีมงานเดียวกันเมื่อครั้งสังกัดตำรวจไซเบอร์และอาจจะเคยมีพฤติกรรมนอกรีตมาแล้วแต่เอาผิดไม่ได้เพราะหลักฐานไม่ชัดเจน มาครั้งนี้คงเกิดอาการย่ามใจจึงประกอบกำลังกันตบทรัพย์นักธุรกิจที่ประกอบธุรกิจหมิ่นเหม่ต่อกฎหมาย
จากพฤติกรรมตำรวจทั้ง 9 นาย พอสะท้อนได้ว่าน่าจะมีข้อมูลของกลุ่มธุรกิจสีเทาอยู่ในมือจำนวนมาก เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าข้อมูลของกลุ่มธุรกิจสีเทาที่ทำธุรกิจผ่านระบบออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเว็บพนันออนไลน์ โต๊ะพนันบอล แก๊งคอลเซ็นเตอร์ หวยใต้ดิน รวมถึงธุรกิจเถื่อนอื่นๆ การทำธุรกรรมทางการเงิน จะใช้ระบบออนไลน์เป็นหลัก
ระบบเหล่านี้ตำรวจไซเบอร์สามารถที่จะเจาะข้อมูลเข้าไปหาหลักฐานได้แทบทั้งสิ้น ทำให้ทราบได้ว่ากลุ่มธุรกิจสีเทามีกี่กลุ่ม มีชาติไหนบ้าง ใครเป็นสมาชิกในแก๊งบ้าง และสำนักงานอยู่ที่ไหน ข้อมูลลักษณะนี้ในแวดวงตำรวจไซเบอร์และบิ๊กตำรวจที่เกี่ยวข้องต่างทราบกันดี ส่วนใหญ่จะเรียกดูข้อมูลได้ทันที
จากปรากฏการณ์ดังกล่าวได้สร้างความร่ำรวยให้กับตำรวจระดับพล.ต.อ.ยันชั้นประทวน เป็นจำนวนมาก แต่มีพลาดพลั้งตกเป็นข่าวเพราะหักกันเองอย่าง กรณีเป้รักผู้การฯ หรือกรณีมินนี่เจ้าแม่เว็บพนันที่พัวพันบิ๊กตำรวจหลายนาย เป็นต้น
ขณะเดียวกันมีการใช้ข้อมูลเจาะไปถึงกลุ่มธุรกิจสีเทา ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนผิวดำหรือกลุ่มจีนเทา โดยเฉพาะจีนเทาหลายปีที่ผ่านมาเฟื่องฟูอย่างมาก สร้างอาณาจักรได้อย่างกว้างขวางบางกลุ่มซุกอยู่ใต้ปีกบิ๊กการเมือง นำเงินบริจาคพรรคการเมืองครั้งละนับร้อยล้านบาท กลุ่มธุรกิจสีเทาเหล่านี้พร้อมที่จะจ่ายให้ตำรวจหรือจ่ายหน้าที่รัฐหน่วยอื่นเสมอ หากไม่เรียกร้องในราคาที่สูงเกินไป แต่ที่ปรากฏเป็นข่าวเพราะมีการเรียกร้องสูงเกินไป
จากบริบทที่ยกมาทั้งหมดได้กลายเป็นเรื่องปกติของสังคมไทยเป็นแล้ว จึงไม่แปลกที่มักจะมีชาวบ้านร้องเรียนบ่อยครั้งว่าถูกกลุ่มจีนเทาคุกคาม แต่ตำรวจและเจ้าหน้ารัฐที่เกี่ยวข้องมักวางเฉย จนกว่าจะถูกสื่อหรืออินฟลูเอนเซอร์ประจานถึงจะมีการแก้ปัญหา
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจสีเทาไม่ได้มีที่ตำรวจไซเบอร์เพียงหน่วยเดียว แต่จะมีเกือบทุกหน่วย อาทิ ตำรวจสอบสวนกลาง กองบังคับการสืบสวนสอบสวนทั้งภูธรและนครบาล รวมถึงกองกำกับการสืบสวนสอบสวนทั้งภูธรและนครบาล ทั้งนี้ขึ้นอยู่ว่าหน่วยไหนจะนำไปใช้เพื่อปราบปรามหรือหน่วยไหนนำไปใช้เพื่อตบทรัพย์ แต่ที่ผ่านมาข้อมูลเหล่านี้มักจะถูกนำไปใช้เพื่อตบทรัพย์หรือรีดไถ เพื่อแลกกับการไม่ถูกดำเนินคดี ในแวดวงสีกากีต่างทราบกันดีว่าบิ๊กตำรวจหรืออดีตบิ๊กตำรวจคนไหนรวมถึงบริวารต่างร่ำรวยกับพฤติกรรมเหล่านี้
ดังนั้นเพื่อยับยั้งการเติบโตของกลุ่มธุรกิจสีเทาที่กำลังเฟื่องฟู พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ต้องหามาตรการคุมเข้มให้ตำรวจใช้ข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจสีเทาที่อยู่ในมือเพื่อการปราบปรามไม่ใช่เพื่อแสวงหาประโยชน์ และการลงโทษแบบฉับไวกับตำรวจ 9 นาย ที่ พล.ต.ท.ธนายุตม์ ลงนามนั้นถือว่ามาถูกทางแล้ว !!!