กวางลูกผสมภูพาน อีกสัตว์เศรษฐกิจใหม่

247

หลังจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) มาอย่างต่อเนื่องจนประสบความสำเร็จกับการพัฒนาสายพันธุ์ 4 ดำ แห่งภูพาน อันได้แก่ ไก่ดำภูพาน ที่พัฒนามาจนได้ไก่สีสวยขึ้น ไม่ใช่สีดำอย่างเดียว แต่ยังคงเนื้อดำกระดูกดำ สารอาหารครบถ้วน แถมให้ไข่ได้ดีไม่แพ้ไก่ไข่, หมูดำภูพาน หรือเนื้อหมูภูพานคุโรบุตะ,โคเนื้อภูพาน อันรสชาติแสนโอชะ และกระต่ายดำภูพาน ที่ทำเงินให้เกษตรกรมาแล้วไม่น้อย ล่าสุดยังได้พัฒนากวางลูกผสมภูพานออกมาเป็นอีกหนึ่งสัตว์เศรษฐกิจ ที่พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงเป็นกวางเนื้อ การตัดเขา ให้กับเกษตรกรและผู้สนใจแล้ว


นายสัตวแพทย์วิศุทธิ์ เอื้อกิ่งเพชร หัวหน้างานศึกษาและพัฒนาด้านปศุสัตว์ ศูนย์ฯ ภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บอกถึงกวางลูกผสมสัตว์เศรษฐกิจชนิดใหม่ว่า กวางลูกผสมภูพานเกิดจากเมื่อกว่า 15 ปีที่แล้ว มีน้องๆ เด็กๆ เยาวชน เข้ามาชมศูนย์ฯ แต่กลับมิใคร่มีใครสนใจใน 4 ดำ เท่าไรนัก ศูนย์ฯ จึงสอบถามไปยังน้องๆ เหล่านี้ว่าอยากดูอะไร คำตอบคือ “กวางเรนเดียร์ของซานตาครอส”

นายสัตวแพทย์วิศุทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ไม่นานศูนย์ฯ ก็มาระดมสมองว่าจะทำอย่างไรให้สามารถดึงดูดเด็กและเยาวชน เมื่อความคิดตกผลึกที่กวางอย่างที่เด็กๆ ต้องการ โจทย์ใหญ่คือ ต้องสร้างอาชีพให้กับเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันก็เลี้ยงง่าย เทคโนโลยีการเลี้ยงไม่ซับซ้อน สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้อย่างแท้จริง จึงเริ่มมีการขอนุญาตเพาะพันธุ์และนำเข้ากวางแซมบ้าและรูซ่าเข้ามาเลี้ยง จาก 20 ตัว ขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ช่วงแรกต้องการเขากวางอ่อน เพราะอุดมไปด้วยองค์ประกอบฮอร์โมนและสารประกอบหลายชนิดที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย อาทิ Testosterone ช่วยบำบัดอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ, Gonadotropin Releasing (GnRH) ช่วยรักษาอาการมีบุตรยากในสตรี และช่วยกระตุ้นลูกอัณฑะให้สร้างอสุจิ, Prostaglandins ช่วยลดอาการอักเสบของอวัยวะต่างๆ และช่วยลดการปวดประจำเดือนของสตรี, Pantocrine ช่วยให้ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบประสาท ระบบย่อยอาหารทำงานได้ปกติ และ Insulin-like growth factor-1(IGF-1) เร่งการเจริญเติบโตของเซลล์เสื่อมสภาพให้กลับมามีประสิทธิภาพ ต่อมาเมื่อกวางมีอายุเยอะขึ้นเกินกว่า 10 ปี เริ่มให้เขาน้อยลง เมื่อปลดระวาง จึงลองนำเนื้อไปให้ชาวบ้านนำไปประกอบอาหาร จากนั้นลองนำมาทำเป็นไส้กรอก จนได้สูตรสำเร็จนำมาเผยแพร่เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร

สำหรับกวางรูซ่า Rusa Deer ชื่อวิทยาศาสตร์ Cervus timorensis เป็นกวางขนาดกลาง น้ำหนักเพศผู้ 120-160 กก. เพศเมีย 65-90 กก. สีน้ำตาลเหลือง น้ำตาลเทา สูงได้สูงสุดถึง 2 เมตร ถิ่นที่อยู่อาศัยในอินโดนีเซียและมาเลเซีย ระยะตั้งท้อง 252 วัน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว นิสัยค่อนข้างตื่นตกใจง่าย จัดเป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดหนึ่ง

ส่วนกวางแซมบ้า Sambar Deer ชื่อวิทยาศาสตร์ Rusa unicolor เป็นกวางขนาดใหญ่ ขนสั้น สีเทาน้ำตาลแกมเหลือง มีเขาข้างละ 3 กิ่ง เพศผู้น้ำหนัก 250 กก. สูง 140-160 ซม. เพศเมียน้ำหนักเฉลี่ย 155 กก. สูง 120 ซม.ตั้งท้อง 240 วัน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว ชอบอยู่แบบสันโดด มีกระจายทั่วไปในป่าธรรมชาติของไทย มาเลเซีย สุมาตรา อินเดีย จีน ไต้หวัน กัมพูชา และลาว จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ที่อนุญาตให้เพาะพันธุ์ได้

ขณะที่กวางลูกผสมแซมบ้า-รูซ่า ขนาดใหญ่กว่ากลางรูซ่า 25-30% มีน้ำหนักและการเจริญเติบโตที่ดี เหมาะกับการขุนเป็นกวางเนื้อ พร้อมไปกับเอาเขากวางอ่อน ลำตัวสีน้ำตาลดำหรือน้ำตาลไหม้ ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง ไม่ปราดเปรียวเพราะตัวค่อนข้างใหญ่ จัดเป็นอีกหนึ่งสัตว์เศรษฐกิจของศูนย์ฯ ที่พร้อมถ่ายมอดเทคโนโลยีให้กับเกษตรกรและผู้สนใจ

สิงห์หนุ่มตะลอนทัวร์