หน้าแรกการศึกษา วิทยาการ“ประเสริฐ” ย้ำ ไทยมุ่งผลิตบุคลากร AI 30,000 คน สร้างมูลค่าเศรษฐกิจ 4.8 หมื่นล้าน

“ประเสริฐ” ย้ำ ไทยมุ่งผลิตบุคลากร AI 30,000 คน สร้างมูลค่าเศรษฐกิจ 4.8 หมื่นล้าน

วันที่ 18 ตุลาคม 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวในการปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ ‘การมุ่งหน้าสู่ยุค AI ของประเทศไทย’ ในการประชุมสุดยอดอุตสาหกรรมแห่งอนาคต หรือ Delta Future Industry Summit 2024 ภายใต้ธีม ‘ปลดล็อกศักยภาพ AI รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมและดาต้าเซ็นเตอร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Unlocking the Potential of AI for Industrial and Data Center Growth in Southeast Asia)’ ซึ่งจัดโดยบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมชาเทรียม แกรนด์ กรุงเทพฯ

นายประเสริฐกล่าวว่า ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ไม่ใช่กระแสที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว หากแต่เป็นพลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่จะปฏิรูปเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และสังคมของเราอย่างรอบด้าน จากการคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาด AI ทั่วโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 826 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2573 นั้นประเทศไทยพร้อมคว้าโอกาสนี้ผ่านแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ซึ่งวางกรอบการดำเนินงานไว้อย่างเป็นรูปธรรม

“เป้าหมายของเราคือการสร้างบุคลากรด้าน AI ให้ได้มากกว่า 30,000 คนภายในปี 2570 พร้อมทั้งส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วย AI ให้มีมูลค่ารวมมากกว่า 48,000 ล้านบาท ในขณะเดียวกัน ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคก็กำลังเร่งลงทุนด้าน AI อย่างจริงจัง โดยมุ่งหวังที่จะเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ผมมีความเชื่อมั่นว่า ด้วยความร่วมมืออย่างแน่นแฟ้นในภูมิภาค เราจะสามารถยกระดับตำแหน่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เป็นกำลังสำคัญระดับโลกในด้านนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วย AI ได้อย่างแน่นอน” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ดีอี กล่าว

ด้าน นายวิคเตอร์ เจิ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทเดลต้า ประเทศไทย กล่าวว่า รู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมรับฟังการอภิปรายที่น่าสนใจ ซึ่งมุ่งวิเคราะห์บทบาทของ AI ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมชั้นนำต่าง ๆ เดลต้ารู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ ผ่านโซลูชันนวัตกรรมหลากหลายรูปแบบของเรา ตัวอย่างเช่น โซลูชันระบายความร้อนขั้นสูง Air-Assisted Liquid Cooling (AALC) ที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งให้ความสามารถในการระบายความร้อนมากกว่า 2.5 เท่าและใช้พลังงานน้อยกว่า 7% เมื่อเทียบกับการระบายความร้อนด้วยอากาศแบบเดิม วิสัยทัศน์ของเดลต้าไม่เพียงแค่มุ่งก้าวล้ำนำหน้ากระแสเท่านั้น แต่เรายังมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์อนาคตที่เทคโนโลยีสามารถยกระดับคุณภาพชีวิต ส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจ และขับเคลื่อนด้วยหลักความยั่งยืน เพื่อก้าวสู่โลกที่ชาญฉลาด ยั่งยืน และเชื่อมโยงถึงกัน”

นางภารดี สินธวณรงค์ Head of Marketing, Thailand & Vietnam at Facebook Thailand กล่าวว่า ที่ Meta เราภูมิใจที่ได้เชื่อมโยงผู้คนกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลกด้วยวิธีการที่สร้างแรงบันดาลใจและล้ำสมัย โดยมีผู้ใช้งานรายวันมากกว่า 3,270 ล้านคน เพื่อส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจต่าง ๆ เราได้ลงทุนมากกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี AI ที่ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับการเชื่อมต่อเหล่านี้ ขณะนี้ เทคโนโลยี Gen AI สำหรับธุรกิจของเราได้เปิดให้บริการแก่ธุรกิจในประเทศไทยผ่านฟีเจอร์ Advantage+ Creative โดยในเดือนที่ผ่านมา มีผู้ลงโฆษณามากกว่า 1 ล้านรายทั่วโลกที่ใช้ประโยชน์จากฟีเจอร์โฆษณาที่เกี่ยวกับ AI เชิงสร้างสรรค์อย่างน้อยหนึ่งฟีเจอร์ ด้วยการใช้ทรัพยากรเชิงสร้างสรรค์มาเป็นมาตรฐานใหม่สำหรับการกำหนดเป้าหมาย ฟีเจอร์ Advantage+ Creative ช่วยให้ธุรกิจสามารถปรับแต่งแคมเปญให้เป็นรูปแบบที่หลากหลาย เพิ่มประสิทธิภาพด้านเวลาและทรัพยากร พร้อมสร้างการปรับแต่งเฉพาะบุคคลและการเชื่อมต่อในระดับที่ใหญ่ขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ด้าน นายทิม โรเซนฟิลด์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมของบริษัท Firmus Technologies และ Sustainable Metal Cloud (SMC) ได้เน้นย้ำว่าแม้ AI จะสามารถปฏิวัติวงการอุตสาหกรรมได้อย่างต่อเนื่อง แต่หนึ่งในความท้าทายที่สำคัญที่สุดที่เราเผชิญคือความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ท่ามกลางการขยายตัวอย่างรวดเร็วของตลาดศูนย์ข้อมูลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราพบโอกาสสำคัญในการแก้ไขปัญหานี้โดยอาศัยระบบโครงสร้างพื้นฐานการทำความเย็นด้วยของเหลว หรือ Liquid cooling infrastructure ที่เข้ามาเป็นตัวพลิกโฉมการใช้พลังงานในระบบโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว โดยเทคโนโลยีนี้สามารถลดการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงร้อยละ 50 นายทิมยังเน้นย้ำว่า การปรับปรุงดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีอยู่เดิมด้วยเทคโนโลยีนี้ไม่เพียงแต่ทำได้จริง แต่ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรม ควบคู่ไปกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับงการประชุมสุดยอดอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เป็นเวทีสำคัญในการเรียนรู้โอกาสและความท้าทายที่เกิดขึ้นจากเทรนด์อุตสาหกรรมใหม่ที่กำลังเป็นกระแส เพื่อจุดประกายให้เกิดแนวคิดใหม่ ๆ สำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน ในปีนี้มีการรวบรวมบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี รวมไปถึงผู้นำนวัตกรรมและผู้กำหนดนโยบายมากมายไว้ที่นี่ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการเติบโตที่ขับเคลื่อนด้วย AI ในอนาคตในภูมิภาค โดยเน้นย้ำบทบาทและศักยภาพของประเทศในอาเซียนในการรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ ด้วยพลังของ AI เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน  โดยบริษัทเดลต้า ประเทศไทย มีความตั้งใจในการลงทุนในประเทศไทย 500 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วงห้าปีข้างหน้า โดยคาดว่าการลงทุนนี้จะครอบคลุมถึงการวิจัยและพัฒนา  การสร้างฐานโรงงานใหม่ การปรับปรุงโรงงาน กิจกรรมด้านการสร้างความยั่งยืน รวมถึงการลงทุนเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย RE100 ภายในปี 2030 และโครงการด้านการศึกษาในท้องถิ่น ซึ่งคาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สำคัญให้กับประเทศในช่วงเวลาดังกล่าว

#Thaitabloid #ไทยแทบลอยด์ #กระทรวงดีอี #ประเสริฐจันทรรวงทอง #การประชุมสุดยอดอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

RELATED ARTICLES
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img