ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยกองคดีความมั่นคง ได้ทำการเข้าตรวจค้นสำนักงานกฎหมายและบัญชีแห่งหนึ่งในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีพฤติการณ์กระทำการเป็นเครือข่ายจดทะเบียนบริษัท “นอมินี” ให้ชาวต่างชาติ อันเข้าข่ายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 เป็นคดีพิเศษที่ 295/2565 โดยมีนิติบุคคลต้องสงสัย จำนวนกว่า 60 บริษัท คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้สอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานโดยดำเนินคดีกับนิติบุคคลต่างด้าวเป็นรายบริษัทหรือกลุ่มบริษัท และพบว่าสำนักงานกฎหมายและสำนักงานบัญชีเป็นตัวการสำคัญในการกระทำความผิดลักษณะนี้ เป็นตัวกลางเกี่ยวพันหลายบริษัทและเป็นผู้รับจ้างจดทะเบียนนิติบุคคล รับทำบัญชี รวมถึงให้คำปรึกษาด้านภาษีและใบอนุญาตทำงาน (work permit) โดยใช้ชื่อคนไทยเป็นนอมินี เข้ามีชื่อเป็นกรรมการหรือผู้ถือหุ้นแทนคนต่างด้าวในหลายบริษัท ทำให้นิติบุคคลต่างด้าวดังกล่าวสามารถประกอบธุรกิจที่ไม่ได้รับอนุญาตและ/หรือถือครองอสังหาริมทรัพย์ อันเกิดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจการค้าขายอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้วิธีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนผู้ถือหุ้นแทนการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์แบบจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่สำนักงานที่ดินซึ่งเป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมายให้ชาวต่างชาติสามารถถือกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ แล้วยังทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากการเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมกว่าร้อยละ 10 ของราคาประเมิน หรือคิดเป็นมูลค่ารวมหลายพันล้านบาทต่อปี คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษกองคดีความมั่นคงจึงมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งบุคคลธรรมดาชาวไทย ชาวต่างด้าว นิติบุคคลไทย และนิติบุคคลต่างด้าว รวมทั้งสิ้น 23 ราย และส่งข้อมูลนิติบุคคลต่างด้าวที่ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 6 ราย ไปยังกรมที่ดิน เพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ต่อมาพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องตามสำนวนการสอบสวนของคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.2643/2567
คดีดังกล่าว ศาลอาญาได้พิพากษาตามคดีหมายเลขแดงที่ อ.2812/2567 เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2567 ลงโทษจำคุกจำเลยทั้ง 23 ราย ในความผิดฐานร่วมกันให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนการประกอบธุรกิจ ของคนต่างด้าว อันเป็นธุรกิจที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 โดยคนต่างด้าวไม่ได้รับอนุญาต และฐานเป็นคนต่างด้าวยินยอมให้ผู้มีสัญชาติไทยให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 พิพากษาจำคุก 10 ปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี จึงลดโทษลงกึ่งหนึ่งคงเหลือโทษจำคุก 5 ปี ประกอบกับจำเลย ไม่เคยมีประวัติการกระทำความผิดมาก่อน จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี ปรับรายละ 200,000 บาท ให้คุมความประพฤติจำเลย 1 ปี และให้จดทะเบียนเลิกบริษัท หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งให้ชำระค่าปรับล่าช้าวันละ 10,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืนคำสั่ง