DSI สนธิกำลัง ปปง.และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ปฏิบัติการ Black Horse Down (ล้มบัญชีม้าดำ)

491

วันนี้ (วันอังคารที่ 8 ตุลาคม 2567) พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และร้อยตำรวจเอก ปิยะ รักสกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้สั่งการให้ ร้อยตำรวจเอก ทินวุฒิ สีละพัฒน์ ผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ นำกำลังเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ สนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และเจ้าหน้าที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เข้าทำการจับกุมผู้ต้องหา จำนวน 5 ราย ได้แก่ นายอิเกดิ (สงวนนามสกุล) ชาวไนจีเรีย นางสาวอรอนงค์ (สงวนนามสกุล) สัญชาติไทย นายวิโรจน์ (สงวนนามสกุล) นางสาวอารยา (สงวนนามสกุล) สัญชาติไทย นางสาวกรรณิการ์ (สงวนนามสกุล) สัญชาติไทย ได้ที่คอนโดย่านถนนศรีนครินทร์ กรุงเทพมหานคร ความผิดฐาน ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่นฯ และโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง ร่วมกันนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยเป็นการกระทำต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน โดยผู้ต้องหาทั้งหมดเป็นขบวนการใหญ่มีนายอิเกดิและนางสาวอรอนงค์ ซึ่งเป็นสามีภรรยากันเป็นหัวหน้าขบวนการ มีพฤติการณ์เป็นเอเย่นต์ในการจัดหาบัญชีม้าจากทั่วประเทศส่งขายให้กับกลุ่มองค์กรอาชญากรรมต่าง ๆ ทั้งแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โรแมนซ์สแกม และขบวนการฟอกเงิน ผู้ค้ายาเสพติดในต่างประเทศ เช่น กัมพูชา ฮ่องกง เกาหลีใต้ แอฟริกาใต้ ทั้งยังที่มีความเชื่อมโยงกลุ่มองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติแอฟริกาตะวันตกที่เคลื่อนไหวในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้


​ คดีนี้สืบเนื่องจาก กองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ ได้ทำการสืบสวนสอบสวนเป็นคดีพิเศษที่ 95/2566 กรณี มีผู้เสียหายจำนวนหลายรายถูกหลอกลวงจากแก๊งโรแมนซ์สแกมหลอกให้หลงรักแล้วชวนลงทุน สูญเงินเป็นจำนวนมากกว่า 50 ล้านบาท จากการสืบสวนปรากฏข้อเท็จจริงว่าบัญชีที่รับโอนเงินจากผู้เสียหายเป็นบัญชีม้าที่เกิดจากการที่นายอิเกดิฯ และนางสาวอรอนงค์ฯ ที่ตั้งตัวเป็นเอเย่นต์รายใหญ่ในการจัดหาบัญชีม้าและซิมโทรศัพท์ โดยมีพฤติการณ์เคลื่อนไหวในพื้นที่กรุงเทพฯ และสั่งการให้กลุ่มเครือข่ายของตนซึ่งอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เป็นนายหน้าติดต่อว่าจ้างหาคนมาเปิดบัญชีม้าและซิมผี แล้วส่งกลับมาให้กับนายอิเกดิฯ และนางสาวอรอนงค์ฯ เพื่อกระจายส่งต่อไปให้กับกลุ่มองค์กรอาชญากรรมชาวไนจีเรียและกลุ่มเครือข่ายอื่น ๆ นำไปใช้ในการหลอกลวงผู้เสียหาย โดยนายหน้าแต่ละคนจะมียอดในการส่งบัญชีม้าให้กับนายอิเกดิฯ และนางสาวอรอนงค์ฯ เฉลี่ยต่อคนประมาณเดือนละกว่า 100 บัญชี และยังพบว่ากลุ่มผู้ต้องหามีความเชื่อมโยงกับบัญชีม้ากว่า 1,000 บัญชี เงินหมุนเวียนกว่า 1,200 ล้านบาท ขณะนี้พบว่ามีผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงจากกลุ่มของนายอิเกดิฯ และนางสาวอรอนงค์ฯ กับพวก มีมูลค่าความเสียหายมากกว่า 50 ล้านบาท และจากการวิเคราะห์เส้นทางการเงินเชื่อว่ายังมีผู้เสียหายอีกจำนวนมากที่ถูกหลอกลวงจากกลุ่มดังกล่าว


ต่อมา คณะพนักงานสอบสวน คดีพิเศษที่ 95/2566 ได้รวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติศาลอาญา เพื่อออกหมายจับผู้ต้องหากลุ่มของนายอิเกดิฯ และนางสาวอรอนงค์ฯ กับพวก จำนวน 8 ราย ซึ่งพบว่ามี 2 รายมีการถูกควบคุมตัวในคดีอื่นจึงได้อายัดตัวไว้แล้ว ในวันนี้ (วันอังคารที่ 8 ตุลาคม 2567) จึงขออนุมัติศาลอาญา ขอหมายค้นเพื่อตรวจค้นสถานที่ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 5 จุด เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานและจับกุมผู้ต้องหา ตามหมายจับที่เหลือ 6 ราย ซึ่งเป็นเครือข่ายของนายอิเกดิฯ และนางสาวอรอนงค์ฯ สามารถจับกุมได้ จำนวน 5 ราย อีก 1 ราย อยู่ระหว่างหลบหนีซึ่งจะได้ติดตามจับกุมมาดำเนินคดีต่อไป


​ ผลการตรวจค้น พบสมุดบัญชีธนาคารต่าง ๆ ที่ใช้เป็นบัญชีม้า จำนวน 40 เล่ม และพบว่ามีบัญชีเงินฝากของนางสาวอรอนงค์ฯ ผู้ต้องหาจำนวน 2 บัญชี ในห้วงที่ผ่านมามีเงินหมุนเวียนกว่าสิบล้านบาท โทรศัพท์เคลื่อนที่ 23 เครื่อง ซิมการ์ดมือถือ 31 อัน บัตร ATM ธนาคาร 20 ใบ แท็บแล็ต 5 เครื่อง รายการบัญชีธนาคาร Statement จำนวนมาก เสื้อผ้าตรงตามภาพที่ปรากฏหน้าตู้ ATM (CCTV) ขณะกดถอนงิน ซองกระดาษพัสดุน้ำตาลใส่ซิมการ์ด 14 อัน กล่องไปรษณีย์ 5 กล่อง และบัญชีรายชื่อบัญชีม้าเป็นจำนวนมาก นอกจากกลุ่มผู้ต้องหาที่ถูกจับกุม ยังมีผู้ร่วมขบวนการอีกเป็นจำนวนมากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษจะได้ทำการสืบสวนสอบสวนขยายผลดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ร่วมกระทำผิดและบูรณาการร่วมกับสำนักงาน ปปง. ในการสืบสวนเส้นทางการเงินและติดตามยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องของกลุ่มขบวนการดังกล่าว


กรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอแจ้งเตือนไปยังพี่น้องประชาชนว่า การเปิดบัญชีม้าเพื่อให้คนร้ายไปกระทำความผิด ท่านอาจตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา ตามพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกสูงถึง 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่มีการนำเสนอข่าวผ่านสื่อสาธารณะต่าง ๆ ทุกวัน จะปฏิเสธว่าไม่ทราบข่าวสารไม่ได้


ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการร้องทุกข์กล่าวโทษหรือแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับคดีความผิด สามารถติดต่อสื่อสารผ่านช่องทางเว็บไซต์ www.dsi.go.th แบนเนอร์ “ร้องเรียน ร้องทุกข์ แจ้งเบาะแส” เพื่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจะได้รวบรวมพยานหลักฐานและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

#Thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์ #ข่าวอาชญากรรม #DSI