เชียงใหม่อ่วม!! สธ.ปิดสถานพยาบาลเพิ่มเป็น 11 แห่ง เตือน “ลำพูน”รับน้ำต่อ

258

กระทรวงสาธารณสุข เผยน้ำหลาก “เชียงใหม่” กระทบสถานพยาบาลปิดบริการเพิ่มเป็น 11 แห่ง ออก 5 ข้อสั่งการรับมือ จัดทีมแพทย์เคลื่อนที่ดูแลประชาชนจนเข้าสู่ภาวะปกติ “เชียงราย” เร่งฟื้นฟูหลังน้ำลด ทั้งระบบน้ำประปาและจัดการส้วม ส่วน “ลำพูน” ให้เฝ้าระวังรับน้ำ ป้องกันสถานพยาบาล พร้อมอพยพกลุ่มเปราะบาง จังหวัดรับน้ำหลังเขื่อนเจ้าพระยาและภาคใต้ให้เตรียมพร้อมด้วยเช่นกัน

วันนี้ (6 ตุลาคม 2567) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.สฤษดิ์เดช เจริญไชย ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขฉุกเฉิน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข รับมอบหมายจาก นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมทางไกลเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณี สถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ครั้งที่ 19/2567 และกล่าวว่า ขณะนี้ยังมีสถานการณ์ใน 17 จังหวัดเท่าเดิม จ.เชียงใหม่ ที่เกิดน้ำหลากจากระดับแม่น้ำปิงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ล่าสุดมีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย รวมเป็น 3 ราย ได้แก่ ชายอายุ 44 ปีจากไฟดูด หญิงอายุ 33 ปีจากดินโคลนถล่ม และผู้สูญหายจากการถูกกระแสน้ำพัดซึ่งพบร่างแล้ว ยังคงเหลือผู้สูญหายอีก 1 ราย ทำให้ทั่วประเทศมีผู้เสียชีวิตสะสม 57 ราย บาดเจ็บสะสม 2,381 ราย และสูญหาย 1 ราย เปิดศูนย์พักพิงในเชียงใหม่รวม 42 แห่ง รองรับได้ 1,167 ราย มีผู้เข้ารับบริการแล้ว 83 ราย ขณะที่สถานพยาบาลได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นเป็น 11 แห่ง ปิดให้บริการทั้งหมด ได้แก่ สาธารณสุขอำเภอแม่แตง สาธารณสุขอำเภอเมือง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพศูนย์อนามัยที่ 1 โรงพยาบาลค่ายกาวิละ โรงพยาบาลเซ็นทรัลเชียงใหม่ เมโมเรียล รพ.สต.บ้านน้ำโท้ง รพ.สต.บ้านดงก่ำ รพ.สต.บ้านป่าข่อยเหนือ รพ.สต.บ้านท่าหลุก รพ.สต.หนองหอย และศูนย์สุขภาพชุมชนแม่ท่าช้าง ส่งผลให้ทั่วประเทศมีสถานพยาบาลได้รับผลกระทบรวม 105 แห่ง ปิดให้บริการ 12 แห่ง โดยอีกแห่งคือ รพ.สต.บ้านวังลูกช้าง จ.พิจิตร

“ในการดูแลช่วยเหลือประชาชน ปัจจุบันมีการจัดทีมปฏิบัติการทางการแพทย์และสาธารณสุข 73 ทีม ในรอบวันที่ผ่านมาให้บริการเพิ่มขึ้น 4,595 ราย สะสม 209,249 ราย ดูแลกลุ่มเปราะบาง 208 ราย สะสม 31,782 ราย พบโรคและภัยสุขภาพจากการรักษา 982 ราย เป็นน้ำกัดเท้ามากที่สุด 941 ราย ให้บริการประเมินสุขภาพจิต 676 ราย พบเครียดสูง 25 ราย เสี่ยงซึมเศร้า 2 ราย หลังให้การปฐมพยาบาลทางใจแล้วต้องส่งต่อพบแพทย์ 2 ราย” นพ.สฤษดิ์เดชกล่าว

นพ.สฤษดิ์เดชกล่าวต่อว่า ส่วน จ.เชียงรายเข้าสู่ระยะฟื้นฟูหลังน้ำลด กรมอนามัยมีการสื่อสารการฟื้นฟูจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาลให้แก่ผู้ประสบภัย โดยการดูแลระบบน้ำประปาหลังน้ำท่วม ทั้งด้านกายภาพและคุณภาพของแหล่งกักเก็บน้ำดิบ ตรวจสอบระบบเครื่องปั๊ม ถังกรอง ระบบจ่ายน้ำ ปรับปรุงพื้นที่ให้อยู่ในสภาพดี เก็บตัวอย่างตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำ เฝ้าระวังตรวจสอบคุณภาพน้ำประปาจากคลอรีนคงเหลือที่ปลายท่อ รวมทั้งสื่อให้ความรู้การจัดการส้วมหลังน้ำท่วม

ทั้งนี้ ได้มีข้อสั่งการ 5 เรื่องรองรับสถานการณ์ในช่วงนี้ คือ 1.ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ จัดทีมแพทย์เคลื่อนที่ดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ประสบภัย จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ โดยเฉพาะการเฝ้าระวังปัญหาด้านสุขภาพจิต เช่น ภาวะเครียด ซึมเศร้า เสี่ยงฆ่าตัวตาย 2.เมื่อระดับน้ำที่เชียงใหม่ลดลง ให้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งฟื้นฟูสถานพยาบาลที่ได้รับผลกระทบ และเฝ้าระวังโรคติดต่อในพื้นที่ 3.ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำพูน เฝ้าระวังสถานการณ์ระดับน้ำจากจังหวัดเชียงใหม่อย่างใกล้ชิด ป้องกันสถานพยาบาล และพิจารณาอพยพประชาชนกลุ่มเปราะบางไปยังพื้นที่ปลอดภัย 4.พื้นที่นอกเขื่อนกั้นของจังหวัดที่รับน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสำรวจและเตรียมการอพยพประชาชนกลุ่มเปราะไปยังพื้นที่ปลอดภัย และ 5.จังหวัดในภาคใต้เขตสุขภาพที่ 11 และ 12 ให้ติดตามพยากรณ์อากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ฝนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสงขลา ยะลา ปัตตานี ที่มีความเสี่ยงดินถล่มในช่วงวันที่ 6-7 ตุลาคมนี้

#Thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์ #ข่าวน้ำท่วม