บททดสอบฝีมือ”นายกฯอุ๊งอิ๊ง”ชี้กู้อุทกภัยแม่สาย”สอบไม่ผ่าน-ไร้แผน” ผู้ประสบภัยวิกฤตหนักหลังน้ำลด

2414

     ช่วงที่เกิดอุทกภัยในพื้นที่เชียงรายและเชียงใหม่ รัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ถูกวิจารณ์จากสังคมและสื่อโซเซียลอย่างหนักว่าไม่เร่งช่วยเหลือ แต่ก็มีเสียงตอบจาก น.ส.แพทองธาร ว่าขอแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ก่อน แถลงนโยบายเสร็จจะลงพื้นที่ทันที

     สำหรับรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำพอที่จะรับฟังได้เพราะที่ผ่านมานับแต่พรรคไทยรักไทย กลายร่างมาเป็นพรรคพลังประชาชน มาถึงพรรคเพื่อไทย ต่างผวากับมาตรฐานขององค์อิสระ จึงจำเป็นต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นกระบวนความก่อน ในช่วงที่รอคอยให้รัฐบาลแถลงนโยบายต่างมีความคาดหวังว่านายกรัฐมนตรีที่บอกว่าเป็นรุ่นใหม่มีทีมงานดีและพร้อมที่สุด คงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสภาพพื้นที่อุทกภัย มีแผนงานพร้อมที่จะลุยพื้นที่และเตรียมการฟื้นฟูโดยเร็วแล้ว

     เมื่อถึงเวลา น.ส.แพทองธารพร้อมรัฐมนตรีหลายกระทรวงลงไปตรวจสภาพพื้นที่อุทกภัยจริง เดินลุยทะเลโคลนเยี่ยมผู้ประสบภัยและหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรากฏเป็นข่าวตามสื่อต่างๆทุกสำนัก ทำให้ชวนคิดได้ว่าการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประสบภัยคงทำได้รวดเร็วนับจากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลากว่าสัปดาห์การฟื้นฟูช่วยผู้ประสบภัยไม่ได้รุดหน้าหรือเกิดความรู้สึกว่ารัฐบาลบริหารจัดการด้วยความฉับไวเลยจึงพออนุมานได้ว่าผู้นำรัฐบาลเป็นคนรุ่น น่าจะคิดเร็ว ทำเร็วและรอบคอบ ขาดความเอาใจใส่ต่อข้อมูลเพราะไม่สามารถประเมินสถานการณ์ออกว่าน้ำท่วมเชียงรายโดยเฉพาะ อ.แม่สาย รุนแรงขนาดไหน หลังน้ำลดแล้วผู้ประสบภัยต้องเผชิญกับอะไรบ้าง และขาดแผนงานที่จะเร่งฟื้นฟู

     เพราะทุกวันนี้ผู้ประสบภัยยังอยู่อย่างทุกยากจากข้อมูลที่สื่อนำเสนอล่าสุดเช้าวันที่ 22 กันยายน บ้านเรือนของชาวบ้านยังจมอยู่ในทะเลโคลน กลุ่มเปราะบางจำนวน 48 หลัง จมอยู่ในโคลนบางหลักสูงถึง 1-2 เมตรรวมถึง รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ยังจมอยู่โคลนที่เริ่มแห้งและแข็งตัว หน่วยกู้ภัยของรัฐและเอกชนจิตอาสาเพิ่งดำเนินการไปเพียงแค่ 11 เปอร์เซ็นเท่านั้น ถ้ารัฐบาลมีแผนงานบวกกับบริหารจัดการแบบมืออาชีพการช่วยเหลือต้องรุดหน้าไปไม่น้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์แล้ว

      ในความเป็นจริงถ้า น.ส.แพทองธาร เป็นนักบริหารแบบมืออาชีพและรู้โครงสร้างระบบราชการ ระหว่างที่รอแถลงนโยบายหรือแถลงนโยบาย ต้องมีแผนงานที่พร้อมลุยแล้ว เพียงแค่ประชุมร่วมกับนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น อธิบดีกรมบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) อธิบดีกรมการปกครอง ผู้ว่าราชการจังหวัดในภาคเหนือ ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร่วมกันวางแนวทางช่วยผู้ประสบภัยและฟื้นฟูหลังน้ำท่วม เพราะแต่ส่วนล้วนแต่มีกำลังพร้อมสนับสนุนอยู่แล้ว อาทิ กรมส่งเสริมปกครองส่วนท้องถิ่น มีองค์การบริหารส่วนปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)อยู่ในกำกับแต่ละอปท.จะมีอุปกรณ์เครื่องจักรอยู่ในมือ จัดซื้อไว้เพื่อดุแลพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นรถน้ำ รถแบ็คโฮ และรถบรรทุก เป็นต้น โดยให้แต่ละอปท.ที่ไม่ประสบอุทกภัยจัดเจ้าหน้าที่พร้อมอุปกรณ์เข้าช่วยเหลือ หรือกระทรวงกลาโหมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีค่ายทหารและค่ายตำรวจตระเวนชายแดน(ตชด.)อยู่เกือบทุกจังหวัด รวมถึงหน่วยทหารพัฒนา หน่วยงานเหล่านี้ล้วนอุปกรณ์และเครื่องจักรอยู่แล้ว แถมกำลังส่วนใหญ่ภารกิจน้อยอยู่แล้ว สามารถที่จะแบ่งกำลังพลลงไปช่วยเหลือได้อยู่แล้ว  หรือกรมบรรเทาฯมีเครื่องมือพร้อมที่จะกู้ภัยประจำแต่ละจังหวัดอยู่แล้ว

     เมื่อที่ประชุมได้ข้อสรุปแล้วจัดแบ่งพื้นที่ประสบภัยให้แต่ละหน่วยงานเข้าไปดำเนินการ อาทิโซนที่ 1 มีพื้นที่จัดการฟื้นฟูจำนวน 1 ซอย มีบ้านเรือนอยู่ 10 หลังคาเรือน การประกอบกำลังอาจจะประกอบด้วย ทหาร อปท.และตชด. มอบหมายให้ปภ.จังหวัดเป็นผู้มีอำนาจสั่งการและวางแผนร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่เข้าร่วมว่าทีมไหนมีหน้าที่เข้าช่วยเหลือบ้านหลังไหน ทีมไหนจัดการถนนหรือทางเข้า ทีมไหนลุยล้างท่อระบายน้ำ จากนั้นกำหนดระยะเวลาให้ชัดเจนว่าจะเสร็จสิ้นภายในกี่วัน ส่วนภาคเอกชนจิตอาสาที่เดินทางเข้าไปช่วยเหลือให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ บริหารจัดการส่งเป็นทีมเสริมกับภาครัฐ 

     ที่ขาดไม่ได้คือหน่วยส่งกำลังบำรุงจัดหาอาหารและที่พักให้แต่ละทีมที่ลงปฏิบัติหน้าที่เพราะบ้านแต่ละหลังที่จมโคลนต้องใช้เวลาแบบข้ามวันข้ามคืนจึงจะกู้คืนได้ รวมถึงสรุปความคืบหน้าในแต่ละวันรายงานตรงต่อศูนย์ประสานใหญ่ที่ตั้งขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายให้เป็นประธาน เพื่อรับทราบสภาพปัญหาแล้ววางแนวทางแก้ไข แต่จากที่ติดตามข่าวการฟื้นฟูช่วยเหลือผู้ประสบภัยจะออกมาในลักษณะต่างฝ่ายต่างทำและล่าช้า จนภาคเอกชนหลายหน่วยอาจจะทนเห็นความทุกข์ยากของชาวบ้านไม่ไหวต่างระดมกันช่วยเหลือ อาทิระดมเช่ารถบรรทุกเล็ก รถแบ็คโฮ ขนาดเล็ก ว่าจ้างคนงานเดินทางเข้าช่วยเหลือ เริ่มลงพื้นที่วันที่ 25 กันยายน

       ดังนั้นหาก น.ส.แพทองธาร เป็นนักบริหารอาชีพและเข้าใจระบบโครงสร้างการทำงานของระบบราชการ เชื่อว่าชาวบ้านและผู้ประสบภัยคงจะได้เห็นภาพการช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ ข้าราชการผนึกการทำงานแบบเป็นทีม และการฟื้นฟูกู้บ้านจากทะเลโคลนคงจะรุดหน้าไปกว่า 50 เปอร์เซ็นต์แล้ว ถ้าใช้เหตุอุทกภัยแม่สายเป็นดัชนีวัดศักยภาพของน.ส.แพทองธาร ในฐานะผู้นำประเทศ เชื่อว่าประชาชนทั้งประเทศคงให้คะแนนสอบตก

     ดังนั้นนับจากนี้ไปชาวบ้านคงจะลุ้นกันด้วยความระทึกว่าประเทศไทยภายใต้การนำของน.ส.แพทองธาร จะเดินไปทิศทางไหน เพราะเพียงแค่บททดสอบกับหน้างานอุทกภัยในพื้นที่จำกัด ยังไม่สามารถฟันฝ่าให้ประชาชนรู้สึกอุ่นใจได้เลย !!!