วันที่ 14 ก.ย. นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ว่า ปัจจุบันนี้ ประเทศไทยเข้าสู่เทคโนโลยียุคใหม่ที่เรียกว่า 4.0 ซึ่งกระทรวงแรงงานโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มีหน้าที่เป็นตัวกลางในการที่จะพัฒนาฝีมือแรงงาน แล้วนำหลักสูตรต่างๆ ไปหารือกับทางสถานประกอบการ โดยกรม มีงบประมาณในระดับหนึ่ง ที่จะทําการพัฒนาฝีมือแรงงานด้วยการยกระดับ การทบทวน หรือการสร้างทักษะใหม่ สนับสนุนให้แรงงานได้เรียนรู้ และได้พัฒนาตัวเองให้เข้าไปสู่ธุรกิจในยุค 4.0 เพื่อจะได้รับค่าแรง ตามสิ่งที่ได้มีการปรับ หรือเพิ่มทักษะ ให้กับผู้ใช้แรงงานยุคปัจจุบัน
“ผมและกระทรวงแรงงานไม่ได้นิ่งนอนใจ ในปี 2566 มีการอบรมและเพิ่มทักษะ หรือนิวสกิลให้ 4,000 กว่าคนในเอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ขณะที่มีการยกระดับ หรืออัพสกิลทั้งหมด 40,000 กว่าคน ขณะที่ปี 2567 มีอบรมไปประมาณ 42,000 กว่าคน ซึ่ง 3,100 คน อยู่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ สิ่งที่เราได้ทําการอบรม เช่น การใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอสําหรับการบํารุงรักษาในเชิงป้องกัน การประยุกต์ใช้เอไอเพื่อการผลิต และการพัฒนาระบบสมองกลฝังตัวในแอปพลิเคชัน ประมวลผลภาพ การเขียนแบบวิศวกรรมด้วยคอมพิวเตอร์สําหรับระบบอัตโนมัติ และแมคคาทรอนิกส์ชั้นสูง อีกส่วนหนึ่งก็คือการเพิ่มผลผลิตระบบอัตโนมัติแบบรีนหรือออโตเมชั่น และการออกแบบระบบควบคุมนิวเมติกและนิวเมติกไฟฟ้า และสุดท้ายก็คือการออกแบบควบคุมสมองกลฝังตัว นี่คือสิ่งต่างๆ ตามโปรแกรมที่เราได้มีการอบรมใหม่ๆ” นายพิพัฒน์ กล่าว
รมว.แรงงาน กล่าวว่า ขณะนี้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมมือกับ บริษัทสยามออโตแบคส์ จำกัด ในการพัฒนาและอบรมเรื่องการซ่อมบํารุงรถไฟฟ้า หรือ EV ซึ่งถือเป็นเพียงจุดเริ่มต้น โดยปี 2568 จะมีการร่วมงานกับสยามออโต้แบคส์ โดยใช้สถานประกอบการ 88 สาขา ทั้งนี้บริษัทสยามออโต้แบคส์ จะรับผู้เข้าอบรมทั้งในปีนี้ และปีหน้า ทั้งหมดเข้ามาทำงานที่บริษัท แต่หากใครจะไปประกอบกิจการส่วนตัว หรือไปทำงานบริษัทอื่นก็ไม่ขัดข้อง
แต่ที่สําคัญที่สุดคือการเพิ่มองค์ความรู้เกี่ยวกับ EV เพราะปัจจุบัน EV เข้ามาสู่สังคมไทยอย่างรวดเร็ว และเทคโนโลยีพัฒนาไปเร็วมาก กรมพัฒนาฝีมือแรงงาจึงจะเพิ่มปริมาณคนให้มากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะใหม่ๆ ให้กับแรงงานที่กําลังจะถูกให้ออกจากอุตสาหกรรมรถยนต์เครื่องสันดาป เพื่อให้พร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าต่อไป