“ประชาชน” ขอ กทม. ให้สาธารณะตรวจร่างผังเมืองรวม ก่อนส่ง มท. ตั้ง 9 ข้อสังเกตผังใหม่ 

330

ที่อาคารอนาคตใหม่ วันที่ 9 กันยายน 2567 ชั้น 7 สส.พรรคประชาชน (ปชน.) นำโดย ณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ สส.กรุงเทพฯ เขต 21, ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส.กรุงเทพฯ เขต 9 และ ธีรัจชัย พันธุมาศ สส.กรุงเทพฯ เขต 18 ร่วมแถลงข่าวความคืบหน้าการจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ตาม พ.ร.บ.ผังเมือง 2562 ภายหลังเสร็จขั้นตอนรับฟังความเห็นของประชาชนเมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งอดีตพรรคก้าวไกลต่อเนื่องถึงพรรคประชาชนได้ติดตามอย่างต่อเนื่อง

ณัฐพงศ์กล่าวว่า สส.กทม. พรรค ปชน รู้สึกภาคภูมิใจที่มีส่วนทำให้ประชาชนให้ความสนใจเข้ามามีส่วนร่วมในการรับฟังความคิดเห็นอย่างมากเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา จน กทม.ตัดสินใจขยายเวลารับฟังความคิดเห็นออกไปอีก 6 เดือน และมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจนครบ 50 เขต จากการสังเกตการณ์ พบว่ามีทั้งสิ่งที่ดีขึ้นและสิ่งที่ควรปรับปรุง เช่น มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึง ไม่รวบรัดขั้นตอน และไม่จำกัดการแสดงความคิดเห็นของประชาชน รวมถึงมีเอกสารประกอบให้อย่างครบถ้วน อย่างไรก็ตามเวทีรับฟังความคิดเห็นส่วนใหญ่ยังมีผู้เข้าร่วมจำนวนน้อย เพียง 20-30 คน ประชาชนที่รับทราบอยู่ในวงจำกัด และอาจมีเนื้อหาที่เข้าใจได้ยาก กทม. จึงควรสื่อสารกับประชาชนมากขึ้น

ณัฐพงษ์กล่าวต่อว่า ขั้นตอนต่อไปสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กทม. จะต้องนำความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนทั้งหมดไปประมวลผลเพื่อปรับปรุงร่างฯ และนำเข้าสู่การพิจารณาของชั้นคณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวม รับฟังความคิดเห็นจากกรมโยธาธิการและผังเมือง และคณะกรรมการผังเมืองจังหวัด จากนั้น ประชาชนจะได้เห็นร่างผังเมืองรวมฉบับปรับปรุงในขั้นตอนการปิดประกาศ 90 วัน จะได้ทราบว่าความเห็นของประชาชนถูกนำไปใช้ในการปรับปรุงร่างฯ หรือไม่ นี่จะเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่ประชาชนจะได้มีส่วนร่วมตาม พ.ร.บ.ผังเมือง ฉบับนี้ จึงขอให้ร่วมกันติดตามเรื่องนี้ต่อไป

ด้านศุภณัฐกล่าวว่า มีประชาชนร่วมแสดงความเห็นนับหมื่น ถือว่าเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ต่อการจัดทำผังเมืองในอนาคต ซึ่งพรรคขอเรียกร้องให้กทม.เปิดเผยความเห็นทั้งหมดของประชาชน พร้อมทั้งการให้เหตุผลว่าเห็นด้วยหรือไม่ และได้มีการนำคว่มเห็นเหล่านั้นไปปฎิบัติตามหรือไม่อย่างไร ที่สำคัญ กทม.ต้องนำร่างฯ ใหม่มาให้ประชาชนพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้เห็นภาพรวมว่าผังเมืองที่มีการปรับแก้ไขนั้นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับที่ประชาชนแสดงความเห็นไว้หรือไม่ ก่อนส่งร่างฯ ไปยังขั้นต่อไป

“ขอให้กทม.อย่าเพิ่งรีบส่งร่างให้มหาดไทย ขอให้เปิดโอกาสให้ประชาชนได้พิจารณาและแสดงความเห็นอย่างถี่ถ้วนก่อนเพราะเมื่อส่งร่างผังเมืองให้มหาดไทยแล้ว โอกาสในการแก้แทบเป็นไปไม่ได้” ศุภณัฐกล่าว และเชิญชวนประชาชนให้ร่วมกับจับตา รวมทั้งเรียกร้องความชัดเจนจาก กทม. ไม่ว่าจะเป็น (1) ผังสีขาว ซึ่งเป็นที่ดินทหาร ที่ไม่มีกฎหมายผังเมืองไปกำกับ เสมือนว่าเป็นรัฐอิสระ จะทำอะไรก็ได้ อยู่เหนือกฎหมายผังเมือง ซึ่งทราบมาว่าทหารไม่ได้ติดขัดถ้าจะมีกฎหมายไปกำกับ จึงขอทราบความชัดเจนจาก กทม.ว่าที่ดินผังสีขาวของทหารจะต้องให้อยู่ใต้ผังเมือง ได้หรือยัง

(2) ผังที่โล่ง ซึ่งกำหนดให้เป็นสถานที่สาธารณะประโยชน์ แต่พบว่ามีการนำสนามกอล์ฟของเอกชนที่มีการเก็บค่าบริการมาใส่ในผังที่โล่งด้วย ซึ่งขัดกับเจตนารมย์การทำผังเมือง (3) ผังสีเขียวลาย แม้มีแนวโน้มที่ชัดเจนว่า กทม. จะลดพื้นที่ทางน้ำไหลผ่าน แต่ก็ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่เหลืออยู่ ต้องการความชัดเจนว่า กทม. จะมีกลไกอย่างไรในการดูแลประชาชนที่ถูกรอนสิทธิ์อยู่ในพื้นที่ (4) ตรรกะในการปรับผังสีแดงที่ให้มี อัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (FAR) สูงขึ้น ยังไม่มีความชัดเจน กทม. ไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมเลือกปรับบางแปลง ไม่ปรับหรือปรับไม่เท่าบางแปลง ซึงแปลงที่ได้ประโยชน์บังเอิญไปตรงกับที่ดินของกลุ่มทุนขนาดใหญ่

(5) ผังสีน้ำเงิน ซึ่งสงวนไว้ทำสถานที่ราชการ แต่กลับเปลี่ยนเป็นสีแดง อยากให้ กทม. ชี้แจงเหตุผล ทั้งนี้ พรรคประชาชนไม่ได้คัดค้านการนำที่ดินของภาครัฐบางแห่งมาทำกิจการเชิงพาณิชย์เพื่อสร้างรายได้ แต่ควรทำอย่างเปิดเผยโปร่งใส

“ทำไมกลุ่มทุนบางกลุ่มมีการขยับตัวต่อบางพื้นที่เรียบร้อยแล้ว ทำไมพวกเขาถึงรู้ล่วงหน้าหรือมั่นใจว่าจะมีการปรับผังในลักษณะนี้ มีการคุยกันหลังบ้านมาก่อนหรือไม่ หรือมีประชาชนคนไหนเรียกร้องหรือว่าอยากให้ที่ดินของราชการตรงนี้ลดน้อยลงแล้วเปลี่ยนเป็นที่ดินเชิงพาณิชย์มากขึ้น หรือส่วนใหญ่เป็นการเรียกร้องของกลุ่มทุนเป็นหลัก” ศุภณัฐตั้งคำถาม

(6) มีที่ดินหลายแปลงอยู่ในแนวที่จะถูกเวนคืนทำถนนและสะพานมานานแล้ว แต่ไม่มีการดำเนินการใด ๆ เจ้าของที่ดินไม่สามารถทำอะไรกับที่ดินได้ คนจะซื้อก็ไม่กล้าซื้อ (7) เรื่องการปรับมาตรการส่งเสริมการพัฒนาด้วยการเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (FAR Bonus) ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะปรับอย่างไร (8) ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละประเภท มีความผิดปกติหรือไม่สมเหตุสมผล เช่น การอนุญาตสร้างโรงแรมหรือสร้างสำนักงานในผังสีน้ำตาล ซึ่งหลายผังสามารถสร้างได้มากกว่าผังสีแดงบางผังด้วยซ้ำ หรือการกำหนดให้สร้างโรงงานขยะในผังสีเหลือง หรือการให้สร้างแพลนปูนในกรุงเทพฯ

และ (9) การกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินของกิจการหรืออาคารบางประเภทให้มีความชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะเป็นการตีขลุม เนื่องจากมีหลายกิจการที่ถูกจัดอยู่ในประเภทพาณิชย์ แต่ประชาชนไม่สามารถรู้ได้ว่าจริงๆ แล้วเป็นพาณิชย์อะไร อาจสร้างความขัดแย้งในอนาคตขึ้นได้

ขณะที่ธีรัจชัยกล่าวว่า  การจัดทำผังเมืองรวม กทม. ครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการเริ่มทำผังเมืองใหม่ตาม พ.ร.บ. ผังเมือง 2562 แต่เป็นการนำร่างผังเมืองที่จัดทำตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งยังมีองค์ประกอบไม่ครบ นำเอามา “ล้างน้ำ” และรับฟังความคิดเห็นใหม่ ซึ่งอาจคลาดเคลื่อนต่อหลักการของ พ.ร.บ.ผังเมือง 2562 โดยเฉพาะมาตรา 9 ที่ระบุว่าก่อนการจัดทำผังเมือง ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน ต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบด้วยวิธีการที่หลากหลายและทั่วถึง เพียงพอต่อการที่ประชาชนจะเข้าใจถึงผลกระทบและแนวทางการเยียวยาความเดือดร้อนหรือความเสียหายแก่ประชาชนหรือชุมชน

ในการรับฟังความคิดเห็นที่ได้ไปสังเกตการณ์ มักจะเอาข้อดีของผังเมืองที่ทำสำเร็จรูปมาแล้วให้ประชาชนฟังและให้รายละเอียดที่เป็นเทคนิคซับซ้อน กลายเป็นพิธีการการรับฟัง โดยไม่มีการพูดถึงผังเมืองที่ดีว่าควรเป็นอย่างไร ไม่มีกรอบแนวความคิดเรื่องการสร้างเมืองระยะยาวที่น่าอยู่สำหรับคนทุกคน ทำให้เป็นที่สงสัยว่าร่างผังเมืองนี้เอื้อประโยชน์คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ใช่เมืองเพื่อคนทุกกลุ่มหรือไม่

ธีรัจชัยกล่าวว่า ขณะนี้พรรคประชาชนโดยทีมผังเมืองกำลังร่างกฎหมายผังเมือง โดยจะเริ่มจากการวางแนวคิดการทำผังเมืองที่ดีก่อน ซึ่งเราสามารถเรียนรู้ได้จากหลายเมืองทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการวางระบบสาธารณูปโภคที่มีความเป็นธรรม รักษาสมดุลกับสิ่งแวดล้อม จากนั้นค่อยลงรายละเอียดให้ประชาชนแสดงความเห็น พร้อมกันนี้ พรรคประชาชนจะติดตามตรวจสอบการจัดทำร่างผังเมืองรวมของ กทม. ต่อไป เพื่อสร้างกรุงเทพฯ ที่เป็นเมืองของทุกคน

#Thaitabloid #ไทยแทบลอยด์ #พรรคประชาชน #ร่างผังเมืองรวม #กทม. #ณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ #ศุภณัฐมีนชัยนันท์ #ธีรัจชัยพันธุมาศ