อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผย’ ร.อ.ธรรมนัส’สั่งการให้เร่งแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ หลังพบปัญหาการระบาดของโรคลำต้นเน่าปาล์มน้ำมัน รวม กว่า 12,462 ไร่

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ สั่งการให้เร่งแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ กรณีการระบาดของโรคลำต้นเน่าปาล์มน้ำมัน ซึ่งพบพื้นที่การระบาดบริเวณพื้นที่ จ.กระบี่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร สตูล ตรัง ระยอง สงขลา ชลบุรี พัทลุงนราธิวาส พบการระบาดรวม 12,462 ไร่ การระบาดส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ กระบี่ และสุราษฎร์ธานี รวม 10,353 ไร่ ซึ่งเป็นปาล์มน้ำมันที่มีอายุมากกว่า 20 ปี โดยโรคลำต้นเน่าปาล์มน้ำมันเกิดจากเชื้อเห็ดกาโนเดอร์มา ที่เข้าทำลายปาล์มน้ำมันได้ทุกระยะการเจริญเติบโต


โดยลักษณะการเข้าทำลาย ระยะแรกต้นปาล์มจะไม่พบลักษณะอาการผิดปกติ ต่อมาทรงพุ่มจะบางลง มีใบยอดไม่คลี่คล้ายกับอาการขาดน้ำ แสดงว่าภายในลำต้นถูกทำลายกว่า 60% ลำต้นกลวง เนื้อเยื่อผุเปื่อย พบดอกเห็ดบริเวณโคนต้น ปาล์มน้ำมันจะหักพับล้ม ในพื้นที่ปลูกทดแทนและเคยเป็นโรคจะพบโรคจะพบไวขึ้นทำให้อายุของปาล์มน้ำมันสั้นลงเนื่องจากเชื้อสะสมอยู่ในดิน ซึ่งมีผลต่อความคุ้มทุนในการเก็บเกี่ยวผลผลิต หากสามารถตรวจพบโรคได้เร็วจะทำให้สามารถจัดการและควบคุมการระบาดของโรคได้ทันท่วงที


นายรพีภัทร์ กล่าวว่า สำหรับวิธีการป้องกันกำจัดที่มีในปัจจุบันทั้งในและต่างประเทศ เพื่อชะลอการเข้าทำลายของเชื้อสาเหตุ รักษาสภาพต้นเพื่อให้ยังสามารถเก็บผลผลิตได้ หากพบต้นที่เป็นโรคได้เร็ว รีบดำเนินการจัดการจะสามารถลดการแพร่กระจายของเชื้อและยืดอายุต้นได้ โดยการเฝ้าระวัง หมั่นตรวจสอบต้นเป็นโรค การเขตกรรม การใช้ชีววิธี และการใช้สารเคมี ซึ่งรมว.เกษตรฯ สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรเร่งแก้ไขปัญหาโรคกาโนเดอร์มาในปาล์มน้ำมัน รวมถึงสำรวจข้อมูลการระบาด สถานการณ์ปัจจุบัน ผลกระทบ หรือมูลค่าความเสียหายต่อผลผลิตปาล์มน้ำมันในปัจจุบัน และการคาดการณ์ผลกระทบในอนาคต ซึ่งสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช (สอพ.) และสถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน (สวร.) กรมวิชาการเกษตร ได้จัดทำแนวทางการขับเคลื่อนและอยู่ในระหว่างดำเนินการจัดการโรคลำต้นเน่าปาล์มน้ำมัน แบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้


ระยะสั้น พัฒนาวิธีการตรวจสอบ/ประเมินว่ามีเชื้อในลำต้นหรือไม่ เพื่อให้สามารถติดตามโรคและการเฝ้าระวัง พร้อมทดสอบเทคโนโลยีการชะลอหรือยับยั้งความรุนแรงของโรค ซึ่งผลการดำเนินงาน ได้สารป้องกันกำจัดโรคพืชที่สามารถชะลอการเกิดโรค และประชาสัมพันธ์เสริมสร้างการรับรู้ ทำความเข้าใจ เรื่อง การจัดการสวนปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนเพื่อป้องกันการเกิดโรค-ลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคลำต้นเน่าปาล์มน้ำมัน เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้และเข้าใจถึงความร้ายแรงของโรคลำต้นเน่าในปาล์มน้ำมัน มีความรู้ในการสังเกตอาการเบื้องต้น การติดตาม เฝ้าระวัง และป้องกันการระบาดของโรค ให้แก่เกษตรกร อย่างต่อเนื่องด้วยชุดองค์ความรู้ที่มีอยู่ของกรมวิชาการเกษตร


ระยะกลาง จัดทำโครงการสร้างการรับรู้ ประเมินการเกิดโรค การเฝ้าระวังและป้องกันโรคลำต้นเน่าปาล์มน้ำมัน และกำหนดพื้นที่การระบาดโดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียม ผลิตหัวเชื้อชีวภัณฑ์เชื้อราไตรโคเดอร์มา เพื่อการป้องกันหรือการลดการแพร่กระจายของเชื้อในดิน โดยในปีงบประมาณ 2568 สอพ. มีแผนผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มาเพื่อสนับสนุนแก่เกษตรกรในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.กระบี่ จำนวนพื้นที่ 20,000 ไร่ ซึ่งจะได้รับการสนับสนุนหัวเชื้อสดจำนวน 20,000 กิโลกรัม


ระยะยาว พัฒนาวิธีการติดตามการระบาดโดยใช้โดรนเพื่อประเมินการเกิดโรค สามารถจัดการกับโรคได้อย่างทันท่วงที พร้อมกำหนดพื้นที่การระบาดบริเวณกว้างโดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียม รวมทั้งพัฒนาวิธีการตรวจสอบ การป้องกันและการกำจัดโรคลำต้นเน่าปาล์มน้ำมัน

#Thaitabloid #สำนักข่าวไทยแทบลอยด์ #ข่าวเกษตร