หน้าแรกการเมืองภาวะเศรษฐกิจและการเงิน ประจำสัปดาห์ โดย : วิจัยกรุงศรี

ภาวะเศรษฐกิจและการเงิน ประจำสัปดาห์ โดย : วิจัยกรุงศรี

สัญญาณการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯและยูโรโซนคาดว่าจะช่วยเปิดทางสู่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ด้านภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนยังไม่มีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจน

•สหรัฐฯ

ตลาดแรงงานสหรัฐฯชะลอตัวชัดเจนขึ้น แต่โอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยยังอยู่ในระดับต่ำ สุนทรพจน์ของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดในการประชุมประจำปีที่เมืองแจ็กสัน โฮล ระบุว่าใกล้ถึงเวลาเหมาะสมในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลังอัตราเงินเฟ้อชะลอตัวและตลาดแรงงานลดความร้อนแรงลง ดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและการบริการในเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 54.1 ชะลอจากเดือนก่อนที่ 54.3 โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตลดลงสู่จุดต่ำสุดในรอบ 8 เดือนที่ 48 อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจยังคงขยายตัวสะท้อนจากดัชนี PMI ภาคบริการเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 55.2 นอกจากนี้ ยอดขายบ้านมือสองในเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้น 1.3% MoM ขณะที่ยอดขายบ้านใหม่ปรับเพิ่มขึ้น10.6%

สัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯชัดเจนขึ้นหลังตัวเลขการจ้างงานเดือนกรกฎาคมออกมาชะลอตัวมากสุดในรอบ 2 ปีครึ่ง นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานของสหรัฐฯ ปรับลดตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในช่วงเดือนเมษายน 2566 ถึงมีนาคม 2567 ลง 30% หรือต่ำกว่ารายงานครั้งก่อน 818,000 ตำแหน่ง ซึ่งถือเป็นการปรับลดมากสุดนับตั้งแต่วิกฤตการเงินปี 2551 อย่างไรก็ตาม โอกาสที่จะเกิดภาวะถดถอยยังค่อนข้างต่ำ จากการบริโภคที่ขยายตัว ตัวเลขการจ้างงานที่ยังเป็นบวก รวมถึงภาคบริการที่ขยายตัว นอกจากนี้ การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯในช่วงปลายปีและแนวโน้มการเริ่มปรับลดดอกเบี้ยของเฟด คาดว่าจะเป็นปัจจัยที่เข้ามาช่วยลดทอนความเสี่ยงต่อภาวะถดถอยได้ในระยะถัดไป ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีประเมินว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดว่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ย 3ครั้งในปีนี้ ครั้งละ 0.25% สู่ระดับ 4.50-4.75% ภายในสิ้นปี 2567

•ยูโรโซน

เศรษฐกิจยูโรโซนฟื้นตัวช้าท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้น ในเดือนกรกฎาคม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้น 2.6% YoY จากเดือนก่อนที่ 2.5% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น 2.9% ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อน นอกจากนี้ ในเดือนสิงหาคม ดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและการบริการอยู่ที่ 51.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ 50.2 จากแรงหนุนของ PMI ภาคบริการที่ขยายตัวดีขึ้นสู่ระดับ 53.3 จากเดือนก่อนที่ 51.9 แต่ดัชนี PMI ภาคการผลิตยังคงหดตัวที่ 45.6

GDP ยูโรโซนในไตรมาส 2 แม้ว่าจะเห็นสัญญาณฟื้นตัว แต่การเติบโตยังคงอ่อนแอและเปราะบาง สะท้อนจากการเติบโตของเศรษฐกิจที่แตกต่างกันในกลุ่มประเทศสำคัญ โดย สเปนและฝรั่งเศสเติบโตได้เล็กน้อย แต่เยอรมนีกลับหดตัวลงจากปัญหาการชะลอตัวในภาคการผลิตและการก่อสร้าง ซึ่งจะส่งผลให้ในช่วงครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจยูโรโซนอาจยังคงเผชิญกับความท้าทายหลายประการ เช่น ภาคการผลิตที่ยังคงอ่อนแอ รวมถึงความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนที่มีความตึงเครียดมากขึ้น ดังนั้น จากปัจจัยดังกล่าวรวมถึงการชะลอตัวของเงินเฟ้อคาดว่าจะนำไปสู่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยวิจัยกรุงศรีคาดว่า ECB จะปรับลดดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปีอยู่ที่ 3.25% จากระดับปัจจุบันที่ 3.75%

•จีน

ความซบเซาในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนกดดันเศรษฐกิจต่อเนื่อง ยอดขายบ้านใหม่ของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 100 อันดับแรกกลับมาหดตัวเร่งขึ้นจาก -17% YoY ในดือนมิถุนายนเป็น -19.7% ในเดือนกรกฎาคม หลังจากปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน ขณะเดียวกันราคาบ้านใหม่และบ้านมือสองเฉลี่ยใน 70เมืองลดลงต่อเนื่องจาก -4.9 % เป็น -5.3% และจาก -7.9% เป็น -8.2% ตามลำดับ หากจำแนกตามกลุ่มพบว่า ราคาบ้านใหม่ลดลงมากที่สุดในเมือง Tier-3 ที่ -5.9 % และราคาบ้านมือสองลดลงมากที่สุดในเมือง Tier-1 ที่ -8.8% นอกจากนี้ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์บางรายยังคงเผชิญกับความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง การผิดนัดชำระหนี้ หรือการฟ้องร้องชำระบัญชี เช่น Country Garden, Vanke ขณะที่หลายเมืองเริ่มผ่อนคลายหรือยกเลิกแนวทางการกำหนดราคาบ้านใหม่ขั้นต่ำ ส่วนรัฐบาลกลางกำลังพิจารณาให้รัฐบาลท้องถิ่นออกพันธบัตรเพื่อเข้าซื้ออุปทานบ้านส่วนเกินเพิ่มเติม

ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างชัดเจน สะท้อนว่า ผลบวกจากมาตรการช่วยเหลือในระยะที่ผ่านมายังจำกัด ประกอบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่อ่อนแอ ขณะที่การผ่อนคลายหรือยกเลิกแนวทางการกำหนดราคาบ้านใหม่อาจทำให้ราคาบ้านใหม่โดยรวมลดลงต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง ส่วนในระยะถัดไป อุปสงค์และอุปทานในตลาดน่าจะมีความสมดุลกันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเข้าซื้ออุปทานบ้านส่วนเกินซึ่งเริ่มตั้งแต่พฤษภาคมยังดำเนินการได้ช้า และการขยายมาตรการดังกล่าวผ่านการออกพันธบัตรโดยรัฐบาลท้องถิ่นอาจทำให้ความเสี่ยงทางการคลังเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีคาดว่า ตลอดครึ่งปีหลัง ยอดขายและราคาบ้านจะยังคงหดตัว แม้อาจชะลอลงบ้างจากมาตรการกระตุ้นของรัฐบาล

วิจัยกรุงศรีคาดกนง.มีแนวโน้มคงดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่เหลือของปี ขณะที่รัฐบาลใหม่เตรียมปรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเพื่อให้สามารถดำเนินการได้บางส่วนในปีนี้

กนง.คงดอกเบี้ยด้วยมติไม่เป็นเอกฉันท์ ชี้พัฒนาการเศรษฐกิจยังเป็นไปตามคาด แต่ยังต้องติดตามสินเชื่อด้อยคุณภาพที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 21 สิงหาคม มีมติ 6 ต่อ 1 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% โดยประเมินเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวตามคาด ด้วยแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการท่องเที่ยวและอุปสงค์ภายในประเทศ ขณะที่การส่งออกสินค้าและภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้านอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายภายในปลายปี 2567 ดังนั้น คณะกรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่โน้มเข้าสู่ศักยภาพและการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน ขณะที่กรรมการ 1 ท่าน เห็นควรให้ปรับลดดอกเบี้ย 0.25% เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ชัดเจนขึ้น และเพื่อช่วยบรรเทาภาระหนี้ลูกหนี้ได้บ้าง

จากถ้อยแถลงดังกล่าวและมุมมองเศรษฐกิจเชิงบวกของกนง.ซึ่งคาดว่า GDP จะเติบโตเข้าใกล้ 3% YoY ในไตรมาส 3 และ 4% ในไตรมาส 4 ส่วนอัตราเงินเฟ้อในระยะกลางจะอยู่ในกรอบเป้าหมาย (1-3%) จากปัจจุบันเฉลี่ย 7 เดือนแรกของปี 2567อยู่ที่ 0.11% วิจัยกรุงศรีประเมินว่าในช่วงที่เหลือของปีกนง. มีแนวโน้มคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามประเด็นที่กนง.แสดงความกังวลไว้เกี่ยวกับ (i) ภาวะการเงินที่ตึงตัวขึ้น ผลกระทบของคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงต่อภาวะเศรษฐกิจและการเงิน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางและกลุ่มธุรกิจที่ยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน ทำให้หนี้ด้อยคุณภาพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะต่อไปและอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจริง และ (ii) การลงทุนภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐหากยังคงซบเซาต่อเนื่อง ประเด็นเหล่านี้อาจส่งผลให้กนง.อาจมีการทบทวนการดำเนินนโยบายทางการเงินในระยะข้างหน้าได้

มีความเป็นได้มากขึ้นที่รัฐบาลชุดใหม่จะปรับรูปแบบโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เป็นการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางก่อนในปีนี้ จากการแสดงวิสัยทัศน์ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและบิดาของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ระบุว่าแหล่งเงินที่จะมาใช้ในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ในส่วนของงบประมาณเพิ่มเติมปี 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท บวกกับงบฯกลางอีก 2 หมื่นกว่าล้าน เป็น 1.45 แสนล้านบาท อาจจะถูกปรับเปลี่ยนเป็นการเติมเงินลงไปในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อเป็นการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐก่อนราว 14.5ล้านคน

ภายหลังการแสดงวิสัยทัศน์ของนายทักษิณ ล่าสุดนายกฯแพทองธารกล่าวว่ารัฐบาลจะให้ความชัดเจนของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในเดือนกันยายน ทางด้านความเห็นจากดร.ปิติ ดิษยทัต (เลขานุการ กนง.) เผยว่ากนง. กำลังจับตาการเปลี่ยนแปลงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะแนวคิดการปรับเปลี่ยนจากรูปแบบเดิมมาเป็นการแจกเงินสดให้กับกลุ่มเปราะบาง ซึ่งกนง.เชื่อว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่ารูปแบบเดิม แต่อาจมาพร้อมกับเม็ดเงินสนับสนุนที่ลดลง วิจัยกรุงศรีประเมินมีความเป็นไปได้สูงที่โครงการดังกล่าวจะมีการปรับเปลี่ยน ส่วนหนึ่งจากข้อจำกัดของงบประมาณเพิ่มเติมวงเงิน 1.22 แสนล้านบาท ที่ได้มีการประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจำเป็นที่จะต้องมีการนำมาใช้ก่อนจะสิ้นสุดปีงบประมาณ 2567 ในเดือนกันยายนนี้ อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามความชัดเจนของการปรับเปลี่ยนรูปแบบ เงื่อนไข วงเงินที่ใช้ในโครงการ และช่วงเวลาที่จะดำเนินการทั้งหมด เพื่อจะประเมินผลต่อเศรษฐกิจในระยะถัดไปได้ชัดขึ้น

RELATED ARTICLES
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_img